เชียงใหม่ เปิดประชุมวิชาการ “เหลียวหลัง-แลหน้า เพื่อการแพทย์แบบครบวงจร ในงานสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มช. เปิดตัวผลงานวิจัยจากฝีมือคนไทย เครื่องตรวจวัดคลื่นหัวใจพร้อมระบบ GPS ใช้ได้จริงและถูกกว่าต่างประเทศถึง 10 เท่า
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 23 ธ.ค. 63 ที่ห้องเชียงใหม่ ชั้น 2 ศูนย์ประชุมนานาชาติดิเอ็มเพลส โรงแรมดิเอ็มเพลส จังหวัดเชียงใหม่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงนการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการ “เหลียวหลัง-แลหน้า งานวิจัยมุ่งเป้า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณสุขอย่างครบวงจรจากล่างสู่บน” โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 100 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานระบบบริการสุขภาพ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เป็นโคครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบเครือข่าการจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเกิดความพิการอย่างรุนแรง โดยขอบเขตของการวิจัยจะครอบคลุมทั้งในดานการป้องกันภาวะเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุฉุกเฉิน ความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับการช่วยเหลือเบื้องต้นในภาวะฉุกเฉินสำหรับประชาชน โดยมีโครงการย่อยจำนวน 32 โครงการเข้าร่วม ซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยนำร่องในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน
สำหรับโครงการนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งระยะแรกที่ดำเนินการนั้น ก็ได้มุ่งเน้นเรื่องของการพัฒนาระบบให้เชื่อมโยงด้านข้อมูลของผู้ป่วยของโรงพยาบาล ไปจนถึงระดับตำบล เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วในด้านการรักษา แต่เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ได้เดินทางกลับไปบ้านเพื่อฟื้นฟูร่างกาย กลับเป็นช่วงที่รอยต่อด้านการรักษาขาดหายไป ทำให้ผู้ป่วยบางรายกลายเป็นคนพิการ ซึ่งในระยะที่ 2 และ 3 ในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลในด้านการดูแลผู้ป่วยที่มากขึ้น
ขณะเดียวกันในวันนี้ก็มีผลงานวิจัย ของนายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ 1 โรงพยาบาลนครพิงค์ โดยเล็งเห็นว่าโรงพยาบาลนครพิงค์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด มีจำนวนเตียงทั้งหมด 609 เตียง แต่เนื่องจากมีผู้รับบริการจำนวนมาก ห้องฉุกเฉินมีความหนาแน่น ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยหนักอยู่ห้องฉุกเฉินนาน ไม่สามารถรับส่งต่อได้ทันต้องรอบริหารจัดการเตียงภายในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งในและนอกจังหวัด ด้วยการสื่อสารทางโทรศัพท์ วิทยุสื่อสารเพื่อส่งต่อข้อมูล การบริหารพบปัญหาทั้งด้านการรับรู้และเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชน คุณภาพการประเมินและการช่วยเหลือผู้ป่วยของศูนย์รับแจ้งเหตุการแพทย์ฉุกเฉินและหน่วยบริการที่ออกปฏิบัติการ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพัฒนาระบบบริการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุขแบบไร้รอยต่อ จังหวัดเชียงใหม่ขึ้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง ปลอดภัย สามารถบันทึกรายงานที่รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งคาดว่าจะทดลองใช้โปรแกรมได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป
นอกจากนี้สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้คิดค้นเครื่องตรวจวัดชีจรอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของชีจร ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต และแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ลึกถึง 12 ลีด ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวได้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลระหว่างคนไข้ รถพยาบาล และโรงพยาบาล มีระบบ GPS ระบุตำแหน่งของรถพยาบาลได้ตลอดเวลา สามารถส่งข้อมูลคนไข้และสัญญาณชีพพื้นฐานแบบเรียลไทม์ มาให้ศูนย์ข้อมูลที่ดูแลอยู่ได้รับทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็ว แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งอุปกรณ์ชนิดนี้ในห้วงที่ผ่านมาต้องสั่งนำเข้ามาใช้ในราคา 300,000 – 500,000 บาท แต่ปัจจุบันสามารถผลิตขึ้นได้ด้วยฝีมือคนไทย ในราคาเพียง 40,000 บาท ถูกกว่าต่างประเทศถึง 10 เท่า ปัจจุบันได้นำเครื่องดังกล่าวไปทดลองใช้แล้วที่โรงพยาบาลสันทรายกว่า 20 เครื่องในการดูแลผู้ป่วย ถือว่าเป็นความสำเร็จของคนไทย ที่สามารถนำเอาแนวคิด และเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร และน่าภาคภูมิใจเพราะมาจากฝีมือคนไทย ในอนาคตเตรียมต่อยอดไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป
กรรณิกา วชิรโสภาพรรณ