รมต.พาณิชย์ ลงพื้นที่หนองคาย ติดตามโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

หนองคาย-นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะลงพื้นที่หนองคายติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปัญหาร้านโชวห่วย และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน

วันที่ 15 ตุลาคม 2564 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ตำบลหาดคำ อำเภอเมืองหนองคาย จากนั้น ไปเยี่ยมชมและติดตาม ร้าน ต.โต๊ดการค้า ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกภายในตลาดแจ้งสว่าง อำเภอเมืองหนองคาย เพื่อรับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะ พร้อมสั่งการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผลักดันให้เป็นวาระหลักที่ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง ให้การสนับสนุนมั่นใจ โชวห่วยไทยต้องเป็นธุรกิจที่คู่สังคมไทย โดยมี นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย พร้อมคณะให้การต้อนรับ

โดยได้ตรวจเยี่ยมร้านโชวห่วย ต.โต๊ด การค้า ที่บริเวณตลาดแจ้งสว่าง ต.หนองกอมเก่าะ อ.เมือง จ.หนองคาย จากนั้น คณะได้ลงพื้นที่ ตรวจติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และประชาสัมพันธ์โครงการประกันรายได้สินค้าเกษตร ปี 3 และมาตรการคู่ขนานเยี่ยมชม ณ ศาสาเอนกประสงค์เทศบาลตำบลหาดคำ อ.เมืองหนองคาย ก่อนจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมและพบปะผู้ประกอบการ GI กล้วยตากสังคม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ร้านแม่อารักษ์ อำเภอสังคม ซึ่งจำหน่ายกล้วยตากสังคม เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 300,000 บาทต่อเดือน มียอดการผลิตปีละกว่า 25,000 กิโลกรัม สร้างรายได้ปีละกว่า 3,750,000 บาท อ.สังคม จ.หนองคาย มีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย จำนวน 417 ครอบครัว มีพื้นที่ปลูกกล้วย 3,658 ไร่ มีผลผลิตต่อปีกว่า 4,352,000 หวี คิดเป็นมูลค่าทางการค้าต่อปีกว่า 43,520,000 บาท โดยเกษตรกร อ.สังคม ตั้งกลุ่มแปรรูปกล้วย 6 กลุ่ม มีสมาชิก 159 ราย แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ กล้วยตากสังคม กว่า 3,500 กิโลกรัมต่อปี มีมูลค่าทางการค้ากว่า 735,000 บาทต่อปี มีช่องทางการจำหน่ายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ และมีทั้งผ่านตัวแทนจำหน่าย ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นอกจากนี้ยังพบว่าที่จังหวัดหนองคาย ยังมีสินค้าหลายชนิดที่สามารถขึ้นทะเบียน GI ได้ และเตรียมผลักดันเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน อาทิเช่น สับปะรดศรีเชียงใหม่ เป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีลักษณะเด่นคือ ผลทรงรี ร่องตาตื้น เปลือกบาง เส้นใยละเอียด สีเหลือเข้ม(น้ำผึ้ง) กลิ่นหอม รสชาติหวานฉ่ำ รับประทานได้ทั้งแกน อ.ศรีเชียงใหม่มีเกษตรปลูกสับปะรด 301 ราย มีพื้นที่ปลูก 4,100 ไร่ ผลผลิตรวมกว่า 15 ตัน มีมูลค่าทางการค้ากว่า 105-165 ล้านบาท จำหน่ายทั่วไป และอีกประเภทคือปลานิลในกระชังเลี้ยงในแม่น้ำโขง ซึ่งในอนาคตจะเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดหนองคาย เนื่องจากมีการเลี้ยงปลานิลกระชังแม่น้ำโขงจำนวนมาก ในพื้นที่ อ.เมืองหนองคาย อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.ท่าบ่อ มีกว่า 2,990 กระชัง มีเกษตรกรผู้เลี้ยง 194 ราย ผลผลิตกว่า 11,066 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าทางการค้ากว่า 861.12 ล้านบาท ซึ่งส่งจำหน่ายทั่วไป ซึ่งลักษณะเด่นของปลานิลเลี้ยงในกระชัง แม่น้ำโขง คือ มีเนื้อแน่น ไขมันน้อย ไม่มีกลิ่นโคลน รสชาติดีเนื่องจากเลี้ยงในน้ำไหล เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์และมีศักยภาพที่อาจผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI ได้

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เร่งส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI โดยมอบหมายกรมทรัพย์สินทางปัญญา ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ในการตรวจสอบเอกลักษณ์และคุณสมบัติเฉพาะของสินค้า และเตรียมผลักดันเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน เช่น กล้วยตากสังคม เป็นสินค้า GI ของธุรกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและรักษาคุณภาพการผลิตด้วยระบบการคุ้มครอง GI อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งสินค้าชุมชนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนส่งเสริมในด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่องและครบวงจร อาทิ การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า การส่งเสริมช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาศักยภาพของสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การโปรโมทสินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และการเชื่อมโยงเอกลักษณ์สินค้ากับแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งชุมชนที่มีสินที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเชื่อมโยงแหล่งภูมิศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่น สามารถติดต่อขอยื่น จดทะเบียน GI กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้.

ภาพ-ข่าว ฤาษีลภ-ปวีณา ผู้สื่อข่าว จ.หนองคาย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม