ผู้ว่าฯศรีสะเกษ เร่งช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วมเต็มที่ เตรียมพร้อมรับพายุลูกใหม่

ศรีสะเกษ-ชาวบ้านถูกน้ำท่วมไม่ต้องรอนานผู้ว่าสั่งเร่งช่วยเหลือเยียวยาเต็มที่ พร้อมเตรียมรับมือพายุลูกใหม่ปลายเดือนนี้

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ศาลากลาง จ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางมาเป็นประธานในการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งนายประสงค์ นวลสายย์ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ ได้จัดการประชุมนี้ขึ้น เพื่อรายงานสถานการณ์อุทกภัยและสรุปผลกระทบในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ห้วงวันที่ 20 ก.ย.64 และห้วงวันที่ 15 ต.ค.64 โดยสรุปผลกระทบด้านการเกษตร มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 21 อำเภอ 1 เทศบาลเมือง และ 6 ชุมชน 122 ตำบล 683 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อย 30,365 ครอบครัว พื้นที่ทางการเกษตร (นาข้าว) เสียหาย 97,514 ไร่ พืชไร่ 7,873 ไร่ พืชสวน 344 ไร่ บ่อปลา 17 บ่อ ถนนได้รับความเสียหาย จำนวน 149 สาย ร.ร.3 แห่ง วัด 1 แห่ง ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ 11 ตำบล 39 หมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน 3,742 ครอบครัว โดยมี นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายนพ พงศ์ผลาดิสัย ปลัด จ.ศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอทุกอำเภอที่ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่ ปภ.ศรีสะเกษทุกคนมาเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มี 3 ประเด็นหลักที่เราติดตามการดูแลช่วยเหลือประชาชนในช่วงของการเกิดพายุ 2 ลูกที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องซึ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการเกษตรที่ไรที่นาเรื่องของการประมงปศุสัตว์ไม่มี เป็นการติดตามเพื่อจะได้เร่งรัดให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาโดยเร็วที่สุด ในส่วนที่ 2 ก็คือในการประเมินสถานการณ์น้ำในสถานการณ์ปัจจุบันเนื่องจากว่าในช่วงนี้มีน้ำจากที่มาจาก จ.นครราชสีมา ไหลลงไปยังแม่น้ำมูลในพื้นที่เรา เราได้มาติดตามช่องทางของการระบายน้ำอะไรต่างๆ ว่าจะสามารถ ระบายน้ำได้เร็วหรือช้ามากน้อยเพียงใดและจะส่งผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ในเขตพื้นที่ 6 อำเภอซึ่งเป็นเส้นทางที่แม่น้ำมูลไหลผ่าน เพื่อจะได้บริหารจัดการให้ได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่น้ำท่วมนาในเขตบริเวณเขื่อนราษีไศล เราก็สูบน้ำออกเพื่อช่วยเหลือให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด นี่เป็นการประเมินสถานการณ์ รวมทั้งการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่ 3 ก็คือตามที่เราได้มีการพยากรณ์อากาศที่เราได้ทราบข่าวว่าจะมีพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น เราเห็นว่าประมาณปลายเดือนนี้พายุลูกใหม่มีโอกาสเข้ามาที่ภาคอีสานตอนล่างซึ่งมีชื่อ จ.ศรีสะเกษด้วย ซึ่งจะมาหรือไม่มานี้เราก็ไม่ประมาทเราก็มาประเมินสถานการณ์แล้ว และในวันนี้เราจะเพิ่มเติมในเรื่องของการทำแผนเผชิญเหตุนี้ในการที่จะประเมินสถานการณ์น้ำ ทั้งน้ำเก่าและน้ำที่จะมาใหม่จากพายุดังกล่าวซึ่งได้วางแผนแนวทางเอาไว้ว่า หากพายุมาจริงเราจะวางกำลังในการช่วยเหลือการอพยพผู้คนอย่างไร รวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ด้วย.

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม