อุดรธานี-มรภ.อุดรฯ เกี่ยวข้าวแปลงนาห้วยคล้าย กระตุ้นชาวบ้านต่อยอดท่องเที่ยวเชิงเกษตร
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่เยี่ยมชมพื้นที่แปลงนาอินทรีย์สาธิต โดยมี นายพลธกร สิงหนุต ปลัดอำเภอหนองวัวซอ นางนฤมล เขาวงกต ผจก.ธ.ธกส.สาขาโนนหวาย อ.หนองวัวซอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านโคกล่ามแสงอร่าม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นติดตามความคืบหน้าโครงการ U2T ซึ่งมีอาจารย์ นักศึกษา ผู้จ้างงาน U2T ต.กุดหมากไฟ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นลงแขกเกี่ยวข้าวในแปลงนาอินทรีย์สาธิตร่วมกัน
ผศ.จรูญ ถาวรจักร์ อธิการบดี มรภ.อุดรธานี เปิดเผยว่า มรภ.อุดรธานี ทำโครงการบริการวิชาการในพื้นที่บ้านโคกล่ามแสงอร่ามหลายโครงการ พร้อมจะผลักดันให้มีการพัฒนาพื้นที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่คนสามารถมาเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ และท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวภายใต้หลัก BCG ที่บูรณาการหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน ให้เศรษฐกิจฐานรากมีการขับเคลื่อน โดยวันนี้ได้มาร่วมกิจกรรมการเกี่ยวข้าวลาย เพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้ปลูกในปีถัดไป วันนี้ได้มาเน้นย้ำและขยายผลโครงการให้เข้าถึงชาวบ้านให้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการรับรู้และนำไปใช้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี กล่าวว่า ในปีนี้มหาวิทยาลัย ได้นำเอาประเด็นเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชื่อมโยงไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้เคียง อาทิเช่น วัดภูตะเภาทอง วัดภูสังโฆ ซึ่งเมื่อฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา คณะทำงานได้คิดรูปแบบใหม่ด้านการตลาด โดยให้อาจารย์และนักศึกษา สาขาวิชาทัศนศิลป์และการออกแบบ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ออกแบบแปลงนาให้มีรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ “โดยใช้แปลงนาของเกษตรกรสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าว ซึ่งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย เป็นทำเลที่มีความสวยงาม มีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ เป็นพื้นที่สำหรับดำเนินการ เพื่อดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชน พร้อมชูจุดเด่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เน้นนักท่องเที่ยวที่อยากมาเรียนรู้การเกษตรแบบสมาร์ทฟาร์ม มีกิจกรรมเสริมให้ทำ อาทิ สาธิตการดำนา การเกี่ยวข้าว เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนความคาดหวังของโครงการ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การทำแปลงนาให้เป็นรูปภาพและดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะในช่วงฤดูทำนาเท่านั้น”
ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี เปิดเผยอีกว่า แต่ยังหวังที่จะต่อยอดให้ชุมชนได้ช่วยกันคิดสร้างสรรค์กิจกรรม ที่จะสามารถจูงใจให้มาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี อาทิเช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร สร้างแลนด์มาร์คกระตุ้นแรงจูงใจ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ปลูกผักผลไม้เมืองหนาว หรือการทำโปรแกรมอบรมระยะสั้นให้กับผู้ที่สนใจ เช่นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชที่ปลูกตามฤดูกาล เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในพื้นที่ และมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าที่เป็นผลผลิต สร้างรายได้ สร้างความยั่งยืนสู่ชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
ดร.เอกราช ดีนาง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา เปิดเผยว่า U2T เป็นโครงการจ้างงาน นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน 60,000 คน ให้เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการสร้างงานและพัฒนาแก้ไขปัญหาและเศรษฐกิจของตำบล โดยดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ก.พ.64 ถึง 31 ธ.ค.64 มรภ.อุดรธานี รับผิดชอบ 4 จังหวัด (อุดรธานี,หนองบัวลำภู,หนองคาย,บึงกาฬ) 135 ตำบล จากการลงพื้นที่วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ดีใจที่มีการเข้ามาติดตามผลดำเนินการ และอยากให้ดำเนินการต่อไปอีก เนื่องจากมีการใช้องค์ความรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยเราจะพยายามลงพื้นที่ติดตามผลให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความเชื่อมั่นต่อทั้งผู้ร่วมโครงการและชาวบ้านเอง.
ภาพ-ข่าว กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าว จ.อุดรธานี