ด่วน!!! สมช.เตรียมชง ทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วัน ทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 63 พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (ส.ม.ช) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระบุว่า การประชุมในวันนี้จะมีการพิจารณามาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ส่วนความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายกิจกรรมสนามมวย จะอยู่ในระยะที่ 4 ด้วยนั้นมีความเป็นไปได้ รวมถึงสถานบันเทิง และ 12 กิจการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องรอผลการประชุม เพราะในทุกกิจกรรมเป็นไปได้หมด ซึ่งต้องดูว่ามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการผ่อนคลายระยะที่ 4 จะครอบคลุมถึงการเปิดสนามบินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับผู้โดยสารจากต่างประเทศหรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์ ระบุว่า ระยะเวลาในการปิดสนามบิน จะยังคงไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ โดยหลังจากนี้ค่อยมีการพิจารณาว่าจะมีมาตรการอย่างไรต่อไป
พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การจะขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือการยกเลิกหรือไม่นั้น จะมีการพิจารณากันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตาม ในการหารือในวันนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติทั้งหมด เพราะต้องส่งเข้า ศบค.ชุดใหญ่อีกครั้งเพื่อพิจารณา
ด้าน พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะกรรมการเฉพาะกิจฯ กล่าวว่า ในส่วนของความมั่นคง เตรียมเสนอการทดลองยกเลิกการประกาศใช้เคอร์ฟิว ทั่วประเทศ เป็นเวลา 15 วัน แต่ยังคงบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ เพื่อจะทดลองว่าประชาชนจะรับได้กับการมี พ.ร.ก ฉุกเฉิน แต่ยกเลิกเคอร์ฟิว และจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรือไม่ โดยจะไม่มีด่านความมั่นคง ไม่มีการกำหนดเวลาเข้าออกเคหสถาน เพราะเราต้องการให้ประชาชนให้เห็นว่าเมื่อมีมาตรการผ่อนคลายสูงสุด จะเป็นเช่นไร หลังจากนั้นก็จะฟังเสียงตอบรับจากประชาชนและสังคม
พล.อ. ณัฐพล ได้อธิบาย สาเหตุที่คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะกฎหมายปกติไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการ ในเรื่องที่ฉุกเฉินหากมีการแพร่ระบาดของโรคได้ ซึ่ง พ.ร.ก .ฉุกเฉินเข้าไปดำเนินการได้อย่างบูรณาการ มาตรการบางอย่างจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปก่อน แต่ทั้งนี้หลัง 15 วันของการทดลองก็ต้องฟังเสียงประชาชนว่ายังอยากให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่
ส่วนสนามมวย จะเสนอที่ประชุม เตรียมไว้ 2 แนวทาง คือเสนอ แนวทางที่จะให้เปิดสนามมวยแต่ไม่ให้มีคนเข้าไปชม กับการไม่อนุญาตให้เปิดสนามมวย ซึ่ง ยอมรับว่าเห็นใจนักมวยที่ขาดรายได้และได้รับผลกระทบในหลายภาคส่วนซึ่งคณะกรรมการจะมีการพิจารราใน2 แนวทางนี้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับที่ประชุม