พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ สมุทรสาคร ฟังเสียงสะท้อนปัญหาการทำประมง จากสมาคมการประมง เสียงชัดวอนแก้กฎหมาย IUU
วันนี้ 15 พ.ค. 63 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือถึงนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เพื่อฟังสถานการณ์ปัจจุบันในภาคธุรกิจโดยตรงอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงความเดือดร้อนและข้อเสนอต่อรัฐบาลเกี่ยวกับความช่วยเหลือต่อภาคธุรกิจในระยะเร่งด่วน ในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์เลวร้ายของประเทศและของโลก ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวนี้ได้แล้วมาจะมีประโยชน์ต่อการพิจารณามาตรการต่างๆของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยว่า วันนี้รู้สึกดีใจมาก ตื่นเต้น เพราะตั้งแต่ก่อตั้งสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยตั้งแต่ 2507 รวม 56 ปี และมีประธานสมาคมฯ รวมผมเป็นลำดับที่ 14 แล้วผ่านมาไม่รู้กี่รัฐบาลแล้ว เพิ่งจะมีนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ลงมา ก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ให้ความสำคัญลงมาเยี่ยมและรับฟังปัญหา ก็ต้องขอขอบพระคุณ และชาวประมงมีความสุขมาก เพราะท่านมารับฟังจริง ไม่ดุเลย ให้พูดเต็มที่ ไม่ว่าเลยแม้สักคำเดียว
“สิ่งที่รัฐบาลจัดระเบียบการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) จัดระเบียบเรือ มีการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำ และแรงงานเถื่อนก็ไม่มี ค้ามนุษย์ก็ไม่มี ยอมรับว่ามีสิ่งดีทั้งในอาเซียนและสากลต่างก็ยอมรับประเทศไทยมากขึ้นหลังจากที่ไทยสามารถปลดใบเหลืองได้ใบเขียวว่ามีการจัดการได้ดี ถึงแม้ว่าจะใช้กฎหมายแรงไปบ้างก็ต้องขอผ่อนปรนให้กฎหมายแก้เป็นข้อๆ ก็มีทั้งแรงงาน โดยแบ่งให้สมาชิกกระจายกันพูดไป รวมทั้งค่าชดเชย และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่อง จากการที่มาครั้งนี้ท่านมาฟังจริง ทีมงานก็มาไม่เยอะแค่ 5-6 คน รวมทั้งขอให้ตั้งคณะทำงานแล้วให้ชาวประมงเข้าไปมีส่วนร่วมการแก้กฎหมายและออกกฎหมายด้วย”
สอดคล้องกับนายมงคล สุขเจริญคณา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม กล่าวว่า มาตรการที่ดีอยู่แล้ว ก็คือการจัดระเบียบเรือประมงไทย และการขึ้นทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน การแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมประมงและประเทศไทยดียิ่งขึ้น ทำให้กลุ่มที่ต้องการโจมตีประเทศไทยลดน้อยลง ส่วนมาตรการที่ขอให้ภาครัฐปรับให้ดีขึ้น ก็คือ เรื่องแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงและแปรรูปประมง ควรจะใช้กฎหมายแรงงานเพียงกฎหมายเดียวลงโทษในการกระทำความผิด ควรเปิดให้มีการขึ้นทะเบียนปีละ 2 ครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงอย่างถาวร และขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้แรงงานไทย (ที่ตกงาน) มาทำงานในอาชีพประมงมากขึ้น
“ส่วนปัญหาที่เดือดร้อนที่สุดของภาคธุรกิจประมง คือ
1. การออกกฎหมายของภาครัฐที่เกินจากวิถีการทำประมงไทย เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ศ.2560 ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรง และมีโทษปรับที่สูงเกินเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและปัญหาการขาดแคลนแรงงาน”
2.การแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา อาทิ การแก้ไขกฎหมายแม่และกฎหมายลูกที่ได้มีการหารือกันไว้แล้ว โดยขอให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาที่ประกอบด้วยผู้แทนสมาคมฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการบูรณาการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ รวมทั้งขอให้เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาไอยูยูของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา และที่สำคัญก็คือ ราคาสินค้าสัตว์น้ำตกต่ำ ขอให้หน่วยงานภาครัฐเพิ่มมาตรการดูแลสินค้าจากประเทศอื่นๆ โดยกำหนดมาตรการป้องกันสินค้าไอยูยู ควบคุม และกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำในกลุ่มที่ประเทศจับได้อยู่แล้ว ซึ่งอาจจะมีการนำสินค้าสัตว์น้ำ (ไอยูยู)เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยได้