สรุปแล้ว ข้าราชการที่เป็น เกษตรกร มีสิทธิ์ได้รับเงิน “www.เยียวยาเกษตรกร.com”หรือไม่
จากกรณีที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง มีมติในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 และอาชีพ เกษตรกร ก็เป็นอีกหนึ่งอาชีพ ที่ได้รับผลกระทบนี้ด้วยเช่นกัน โดยอนุมัติเดือนละ 5,000 บาท จ่าย 3 เดือน รวม 15,000 บาท สำหรับผู้ลงทะเบียน www.เยียวยาเกษตรกร.com
ที่ผ่านมา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ยึดฐานข้อมูลเกษตรกรที่ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และอัพเดทข้อมูลการปลูกพืชทำเกษตรในทุกๆปีอยู่แล้ว แต่ ซึ่งมีจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 8 ล้านราย แต่ยังไม่นับรวมเกษตรกรชาวสวน ที่ปลูกพืชไร่ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ก็จะมีอีกรวมๆประมาณ 10 ล้านราย ซึ่งเปิดให้เกษตรกรได้ขึ้นทะเบียนอัพเดทข้อมูลมาก่อนหน้านี้แล้ว
เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูล ก็พบรายชื่อเกษตรกรที่เป็นข้าราชการ ที่มีรายชื่อที่จะได้รับเงินเยียวยาเกษตรกร 15,000 บาท นี้ด้วย จนหลายคนตั้งคำถามว่า นี่คือการสอดไส้ ยัดไส้ข้าราชการให้รับเงินเกษตรกรด้วยหรือไม่ แล้วข้อเท็จจริงคืออะไร ทำไมข้าราชการจึงมีรายชื่อปนมา รวมถึง ข้อมูลของผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ของกระทรวงการคลังด้วย เพื่อป้องกันการรับเงินซ้ำซ้อน
ซึ่งความชัดเจนเรื่องนี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของเกษตรกรที่ขอรับเงินเยียวยาเกษตรกร กับฐานข้อมูลการจ่ายเงินเยียวยาตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เราไม่ทิ้งกัน และฐานข้อมูลข้าราชการและข้าราชการบำนาญตามที่ กระทรวงเกษตรฯ ขอให้กระทรวงการคลังตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว และ กระทรวงการคลังได้ส่งข้อมูลเกษตรกรที่ขอรับเงินเยียวยาที่ผ่านการตรวจสอบให้กระทรวงเกษตรฯเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรเป็นไปตามกำหนด ที่จะเริ่มโอนเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
ทั้งนี้ยังได้ระบุว่า มาตรการเยียวยาเกษตรกรมีเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มแรก เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรไว้แล้ว 8.35 ล้านราย
กลุ่มที่สอง เกษตรกรที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร
กลุ่มที่สาม เกษตรกรที่ยังไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพราะต้องรอฝนตก กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดให้เกษตรกรกลุ่มนี้ยื่นแบบคำร้องขอขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ภายใน 15 พฤษภาคม 2563 เท่านั้น
ส่วนข้อมูลที่พบว่า ผู้ลงทะเบียนเกษตรกร พบข้อมูล ข้าราชการอยู่ด้วยกว่า 9 หมื่นรายนั้น เรื่องนี้
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับกระทรวงการคลังถึงทะเบียนเกษตรกรที่ตรวจความซ้ำซ้อน ก่อนรับเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 8.33 ล้านราย พบว่า มีผู้ผ่านสิทธิเพียง 6.77 ล้านรายเท่านั้น ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะทยอยโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดประกอบด้วย
ชุดที่ 1 จำนวน 3.34 ล้านราย ผ่านการตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับฐานประกันสังคม จำนวน 329,114 ราย ซ้ำซ้อนทะเบียนข้าราชการบำนาญ 84,471 ราย และซ้ำซ้อนโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว 96,677 ราย
นอกจากนี้ยังมีทะเบียนเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนกับทะเบียนข้าราชการ 91,426 ราย และอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์และเงินไขของกระทรวงการคลัง รวมที่ซ้ำ 601,149 ราย จะเริ่มจ่ายเงินในวันที่ 15 พ.ค.63 วันละ 1 ล้านราย
ชุดที่ 2 เหลืออีก 3.43 ล้านราย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความซ้ำซ้อนในการจ่ายเงินของโครงการเราไม่ทิ้งกันในล๊อตสุดท้ายก่อนส่งข้อมูลให้ กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง
ส่วน ข้าราชการที่มีชื่อในบัญชี เกษตรกรนั้น อาจไม่ถูกตัดสิทธิ์” รับเยียวยาเกษตรกร ซึ่งเรื่องนี้ นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงประเด็นที่มีข้าราชการ หรือข้าราชการบำนาญ มีชื่อได้สิทธิรับเงินเยียวยาเกษตรกร ในการแถลงข่าว ณ ศูนย์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ว่า เมื่อดูจากมติ ครม. ณ ตอนนี้ จะเห็นว่ายังไม่ได้บอกว่าข้าราชการไม่ได้รับสิทธิเยียวยา ซึ่งขอเรียนว่า ข้าราชการที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแรกที่ได้รับสิทธิของมาตรการนี้ มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมานานแล้ว มีการปรับปรุงบัญชีทุกปี ซึ่งตอนนี้ที่ได้รับสิทธิ ข้าราชการบางรายอาจยังไม่รู้เลย เนื่องจากรายชื่ออยู่ในถังข้อมูลอยู่อยู่แล้ว
ขณะเดียวกันหลายกรมที่เกี่ยวข้องได้เปิดปุ่มในระบบของกรมนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นปุ่มสำหรับไม่ประสงค์จะรับสิทธิในมาตรการนี้ ก็จะมีการตัดรายชื่อออกไปตั้งแต่แรก ก่อนที่จะนำข้อมูลส่งมาที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรว่าบุคคลนั้นไม่ประสงค์ที่จะรับสิทธิ
“ยืนยันว่าข้าราชการที่ประกอบการอาชีพการเกษตรที่เป็นอาชีพรอง ทำจริง เพราะมีการตรวจสอบชัดเจน”
ทั้งนี้ นายสำราญ ได้ขยายความการขึ้นทะเบียนเกษตรไว้ว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกร วัตถุประสงค์หลักใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาการทำงานด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิต การตลาด รวมทั้งการดูแลเกษตรกรในการส่งเสริมต่างๆ รวมถึงบางเรื่องเป็นเรื่องของโรคระบาด
ซึ่งการที่จะใช้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ขึ้นอยู่แต่ละโครงการ โดยที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำงานใกล้ชิดกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เช่น ช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต ถ้าเกษตรกรระบุมาว่ามีเนื้อที่ 30 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯ ก็สามารถกรอกข้อมูลตามนั้นได้
“คนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร ต้องยอมรับว่าคนเดียวไม่ได้มีอาชีพเดียว ถ้าเป็นข้าราชการ อาจมีสวนปาล์มอยู่ แต่ถ้าไม่แจ้งว่ามีสวนปาล์มอยู่ ถ้าหลายคนไม่แจ้งเป็นหลายล้านไร่ เราก็มาวางแผนการผลิต หรือแผนการตลาด มันก็ไม่ถูกต้อง ที่นี้การขึ้นทะเบียนเกษตรกร วัตถุประสงค์หลักไม่ได้ขึ้นกับว่ามาช่วยในเรื่องเยียวยาอย่างเดียว”