“จตุพร” เตือน เริ่มเห็นเค้าลาง “ม็อบชนม็อบ”ระบุ “กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ” ปรากฎตัว บ่งบอกถึงรุนแรงเข้ามาใกล้

“จตุพร” เตือน เริ่มเห็นเค้าลาง “ม็อบชนม็อบ”ระบุ “กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ” ปรากฎตัว บ่งบอกถึงรุนแรงเข้ามาใกล้

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊คไลฟ์ PEACETALK โดยย้ำถึงการประเมินสถานการณ์บ้านเมืองว่า เริ่มเห็นเค้าลางการปะทะในสถานการณ์ความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

นายจตุพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนวิเคราะห์สถานการณ์ไม่ได้พูดเพื่อตัวเอง แต่เพื่อชาติบ้านเมือง ประชาชน คนหนุ่มสาว หากตัดอคติออกแล้ว ย่อมรับรู้ถึงการประเมินการเมืองของตนผิดพลาดน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ไร้มายาคติเข้าข้างตัวเอง โดยการวิเคราะห์นั้นมักบอกเสมอว่า ตัวเองคิดอะไร และคาดการณ์ฝ่ายตรงข้ามจะคิดอะไรด้วย

อีกทั้ง กล่าวว่า แม้ตนถูกประณาม หยามเหยียดมากมาย แต่ไม่แคร์ เพราะตนต้องการอธิบายว่า วัยหนุ่มสาวนั้นคิดอะไร แล้วจะเจออะไร จึงยอมเจ็บปวดจากคนตั้งคำถามว่า พูดทำไม และวันที่ 30 ก.ค.นี้ กลุ่มอาชีวะช่วยชาติ นัดชุมนุมปกป้องสถาบันต้านเยาวชนปลดแอกที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลาบ่ายสองโมง ส่วนเยาวชนปลดแอกไปชุมนุมที่อนุเสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จึงเป็นคำตอบได้ว่า ตนพูดทำไม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อย่างนี้คิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เนื่องจากเป็นโมเดลความรุนแรงในยุค 6 ตุลา 2519 แม้ช่วง 14 ตุลา 2516 ทุกฝ่ายทั้งนักเรียน อาชีวะ นิสิตนักศึกษา แม่ทัพนายกอง ประชาชนต่างลุกขึ้นต่อสู้เพื่อบ้านเมือง แต่ผ่านเลยไป 3 ปี ประชาชนและอาชีวะถูกแยกออกจากขบวนการนักศึกษา เพื่อต้องการโดดเดี่ยวแล้วลงมือล้อมปราบ

“การปรากฎตัวของกลุ่มอาชีวะช่วยชาติ (30 ก.ค.) นั้น หากเกิดการปะทะขึ้นจะมีประกาศภาวะฉุกเฉิน หากมีสถานการณ์ต่อจะยกระดับถึงขึ้นใช้กฎอัยการศึก หรือแม้กระทั่งถึงจุดจบแบบ 22 พ.ค. 2557 ทั้งที่พวกผมพยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ จึงไปจัดชุมนุมที่ถนนอักษะ”

นายจตุพร เสนอแนะว่า การจัดการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ มีการตั้งจุดตรวจร่วมกัน ตั้งหน่วยการ์ดรักษาความปลอดภัย หากไม่มีการ์ดแล้ว สถานการณ์จะรวดเร็วมาก ซึ่งแกนนำนักศึกษาก็รู้และเริ่มเห็นปรากฎการณ์นี้แล้ว

อีกอย่าง ทั้งสองฝ่ายต้องระมัดระวัง เพราะความเห็นที่แตกต่างต้องไม่จบลงที่ทำร้ายกันและฆ่ากัน เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเหมือนกัน และเป็นความสวยงามของประชาธิปไตย แต่ที่สำคัญต้องไม่ใช้กำลังมาเผชิญหน้ากัน

“ผมเคารพการตัดสินใจของคนหนุ่มสาว แต่อะไรที่จะเป็นเหตุ ผมก็ออกมาทัก จะเชื่อไม่เชื่อสุดแท้แต่ และผมเห็นว่าหลายคนก็ประกาศตามอย่างที่ว่า จะขีดเส้นใต้นี้ แล้วยึด 3 ข้ออย่างเคร่งครัด แต่การเปิดประตู ที่เป็นช่องว่างช่องเดียวให้เข้ามาได้ วันนี้เห็นผลแล้ว”

ส่วนการแก้ รธน. ฝ่ายค้านต้องการให้เสร็จใน 10 ส.ค.นี้ เนื่องจากเป็นทางออกที่ดีที่สุด หลังจากนั้นก็ยุบสภา ทั้งที่จริงแล้วความต้องการให้แก้ รธน.คือไม่ให้มีแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนมายกมือเลือกนายกฯ ซึ่งคนเขียน รธน.มาอาจแค่สะใจ แต่ถ้าเลือกตั้งได้เสียงข้างน้อยแล้ว ส.ว.หนุนให้เป็นนายกฯ ได้ ย่อมไม่มีความหมายในการเป็นรัฐบาลบริหารประเทศอยู่ดี

ดังนั้น ถ้าแก้ รธน. มาตรา 256 เพื่อเปิดประตูให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพียงมาตราเดียวก็จบแล้ว บ้านเมืองเดินไปได้สวย และจะเป็นผลดีกันทุกฝ่าย รวมทั้ง วันนี้ต้องไม่มีภาพการคุกคามประชาชน ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปสู่ด้านไม่พึ่งปรารถนาได้ 
 
การวิเคราะห์การเมืองของตน อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ส่วนการชุมนุมนั้นสิ่งสำคัญต้องอยู่ที่การเตรียมการรับมือกับฝ่ายแทรกซ้อนที่พยายามทำให้เกิดการปะทะกัน ดังนั้น ถ้านับจากพรุ่งนี้ไป (30 ก.ค.) จะไม่ง่ายแล้ว 

“หน้าที่ของฝ่ายรัฐต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการปะทะกัน ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะมีโรคแทรกซ้อนมากมาย ยากจะเอาอยู่กับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าทุกคนมองไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เป็นจริง”


เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม