คุณหญิงหน่อย”สุดารัตน์” ระดมสมอง ส.ส.พรรค ติวเข้มก่อนอภิปราย พ.ร.ก. 6 ฉบับ จี้ รัฐบาล ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เร่งฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจ โยนโจทย์ถามรัฐบาลจะสร้างกำลังซื้อให้ประขาชนอย่างไร
23 พ.ค.2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เรียกประชุม ส.ส.หารือร่วมกัน ผ่านระบบซูม เนื่องจากต้องเว้นระยะห่างในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเตรียมการอภิปราย โดยเฉพาะพระราชกำหนดรวม 3 ฉบับ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด”โควิด-19 “โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคประกอบด้วย นายโภคิน พลกุล , นายชัยเกษม นิติสิริ , นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นายวัฒนา เมืองสุข , นายนพดล ปัทมะ , นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา , นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รวมทั้งนายสุชาติ ธาดาธำรงค์เวช เข้าร่วมอย่างพร้อมเพียงในการให้คำแนะนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและข้อกฎหมาย ทั้งนี้พรรคเพื่อไทยมี ส.ส. ร่วมลงชื่อขออภิปรายดังกล่าว ประมาณ 50 คน
ทั้งนี้สาระในการประชุมสรุปเบื้องต้น พรรคเพื่อไทยเห็นว่า มาตรการที่รัฐใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ได้แก่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การล็อกดาวน์ประเทศ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการประกาศเคอร์ฟิว ไม่ได้สัดส่วนกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดทำให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นพรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลหมดความจำเป็นที่จะคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป ในทางกลับกันรัฐบาลควรปลดล็อกให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะเสียหายมากที่สุดในรอบ 100 ปี โดยประเมินว่าจีดีพีอาจจะติดลบถึงร้อยละ 7-9 ส่งผลคนตกงานมากกว่า 7-10 ล้านคน
สำหรับมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลยังเยียวยาไม่ทั่วถึง ดำเนินการด้วยความล่าช้า สร้างกติกากฎเกณฑ์ที่ยุ่งยากกับประชาชน ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการเยียวยา และส่อไปในทางทุจริตเอื้อพวกพ้อง รวมทั้งไม่มียุทธศาสตร์ที่ทำให้การเยียวยา เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ โดยจะเห็นได้จากข่าวทำให้ประชาชนต้องฆ่าตัวตาย และเงินเยียวยาที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้ชำระหนี้ไหลไปสู่กระเป๋าของมหาเศรษฐีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เขียนจดหมายไปขอให้ช่วยรัฐบาล
นอกจากนี้ ในส่วนการพยุงรักษาเศรษฐกิจไม่ให้ล่มสลาย พรรคเพื่อไทยเห็นว่ารัฐบาลมิได้มีมาตรการที่จะดูแลรักษาหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการต้องเลิกกิจการ หรือบางรายต้องย้ายฐานเศรษฐกิจไปลงทุนในประเทศอื่น ส่งผลทำให้เกิดการเลิกจ้างงานซึ่งจะทำให้คนตกงานอย่างมหาศาล ปัญหาอาชญากรรมจะตามมา พระราชกำหนด 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชกำหนดช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ พระราชกำหนดรักษาเสถียรภาพทางการเงิน หรือที่เรียกว่า พระราชกำหนดอุ้มหุ้นกู้เศรษฐีที่กระทรวงการคลังจะต้องเข้าไปช่วยใช้หนี้จากเงินภาษีของประชาชนไม่ตอบโจทย์ของประเทศและไม่สามารถพยุงรักษาเศรษฐกิจไว้ได้ ทางพรรคเพื่อไทยเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 แม้จะเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจของโลกแต่จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ของไทยโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารปลอดภัย การท่องเที่ยวและบริการ การแพทย์และการสาธารณสุข การลงทุน และอสังหาริมทรัพย์ แต่รัฐบาลจะต้องรักษาฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้ได้ นั่นคือ การบริโภคภายใน
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งฟื้นฟูด้วยการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในเพื่อเป็นฐานค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศไม่ให้ล่มสลายเพื่อรอให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจตัวอื่นได้ทำงานหลังโควิด ได้แก่การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน แต่ปัญหาคือคนไทยขาดกำลังซื้อมาก่อนเกิดโควิดแล้ว
“โจทย์ของพรรคเพื่อไทยคือรัฐบาลจะสร้างกำลังซื้อให้ประชาชนได้อย่างไร ในด้านผู้ขายได้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือที่เรียกว่าเอสเอ็มอี ที่ได้รับความเสียหายมาก่อนเกิดโควิด-19 เช่นกัน แม้รัฐบาลจะออก พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดหาสินเชื่อรวม 500,000 บาทให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการใดที่จะทำให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ อันจะทำให้ไม่เกิดการกระจายรายได้เพราะเงินกู้ที่ประชาชนต้องใช้หนี้จะไหลไปสู่ธุรกิจของมหาเศรษฐีบางรายที่ค้ำจุนรัฐบาลอยู่ ปัญหาเหล่านี้รัฐบาลจะแก้อย่างไร”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยยังมีความกังวลที่รัฐบาลไม่มีมาตรการดูแลคนที่จะตกงานอีกจำนวนมหาศาล รวมทั้งไม่มีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิดที่คนในโลกจะให้ความสำคัญกับสุขภาพและความสะอาด (health & hygienity) นอกจากจะเอาเงินกู้ 400,000 ล้านบาท มาแจก ส.ส. เอาไปแสวงหาผลประโยชน์แต่ภาระจะตกแก่ประชาชนที่จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้ เหมือนกับโครงการมิยาซาว่า หรือโครงการไทยนิยมที่ล้มเหลวมาก่อนแล้ว
คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวในที่ประชุมอีกว่า ขอให้ ส.ส. ได้ลงพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนเรื่องการเยียวยาและรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อนำมาอภิปรายในสภาฯ โดยจะจัดให้มีการติวเข้ม ส.ส. ทุกวันตั้งแต่วันเสาร์จนถึงวันอังคารก่อนจะมีการอภิปราย โดยเชื่อว่าจะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและจะเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ