“สุทิน”เดือด ไม่เชื่อรัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด อัดออก พ.ร.ก. จับชาวบ้านเป็นตัวประกัน ขอหมออย่าตกเป็นเครื่องมือให้ขยาย “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
วันที่ 31 พ.ค. 2563 ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายในวันที่ 5 ของการพิจารณาพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ โดยในช่วงหนึ่งได้กล่าวถึงการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ของประเทศไทยและรัฐบาล พร้อมถามกลับว่า ถ้าโควิด-19 มาหน้าหนาวเอาอยู่หรือไม่ กล้าปล่อยให้ อสม. สู้มือเปล่าอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ ที่ผ่านมาเป็นเพราะประเทศเราเป็นช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้ขอชื่นชมแพทย์ แต่ขอว่าอย่าเลยป้าย ความหมายคืออย่าเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลเอาไปใช้อ้างเพื่อต่อ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฝ่ายค้านนั้นชื่นชมอย่างมีสติและตำหนิอย่างมีเหตุผล
นายสุทิน อภิปรายต่อว่า การกู้เงินครั้งนี้ต้องการนำมาฟื้นฟูจริงๆ หรือไม่ แต่ตนไม่เชื่อ เพราะโครงการที่ทำไม่ได้ลงไปที่โครงสร้างพื้นฐาน เกิดการจ้างงานในอนาคต เป็นเพียงต้องการหมุนเงินเร็วๆ จนให้รีบส่งโครงการ ให้จัดซื้อจัดจ้างภายใน มิ.ย. และจะให้เงินลงไป ก.ค. การจะฟื้นฟูประเทศ ทำไมคิดได้เร็วแบบนี้เป็นอิคคิวซังหรืออย่างไร ดังนั้น ตนเห็นว่าเงินกู้ 1 ล้านล้าน ส่วน 6 แสนล้านใช้เยียวยา แต่ 4 แสนล้านที่จะฟื้นฟู ถ้าเจตนาจะฟื้นฟูจริงๆ ขอให้บรรจุไว้ใน พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564-2566 ค่อยๆ ช่วยกันคิด ไม่ใช่ไปยัดเยียดโครงการให้ชาวบ้าน แล้วกำหนดให้ประมูลอย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ดูทรงแล้ว แผนการใช้เงินคือต้องการกระตุ้น ให้เกิดการหมุนแบบทวีคูณ ไม่ใช่การฟื้นฟู
“แนวคิดกระตุ้นแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิด สมัยท่านทักษิณ พวกตนก็เคยทำ แต่อยู่ที่องค์ประกอบด้วย สมัยพวกตนเป็นรัฐบาลสามารถหมุนได้ 7 รอบ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทำมา 6 ปี หมุนเพียง 2 รอบ ก็กระโดดไปเข้าทุนใหญ่หมด เพราะองค์ประกอบเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเมื่อใช้จ่ายไปแล้วไม่เกิดการหมุนเศรษฐกิจ ตามทฤษฎีแล้วจะเกิดการตีกลับ จะกลายเป็นค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น ซึ่งเกิดมาแล้วตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปเมื่อ GDP ลดลง หนี้สินจะยิ่งเพิ่มขึ้น ตอนท่านออกจากตำแหน่งหนี้สินจะสูงถึง 70%” นายสุทินกล่าว
นายสุทิน กล่าวต่อว่า ตนมีความเป็นห่วงแนวรบด้านเศรษฐกิจ วันนี้ยังมืดมน พร้อมฝากให้นายกรัฐมนตรีนำที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล อภิปรายเสนอแนะไปคิด รวมถึงอยากได้รับการผ่อนคลายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทุกคนยอมรับว่าการเยียวยามีปัญหาและกระทบทั้งหมด เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่ถามว่าทั่วถึงหรือไม่ ทันเวลาไหม มองว่ายังทำได้ไม่ดีพอ
“ผมไม่เชื่อว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจได้จริง ใช้เงินไม่เป็นจะหาเงินเป็นได้อย่างไร 6 ปี สมควรแก่การสรุปแล้วว่าเก่งพอหรือไม่สำหรับการแก้เศรษฐกิจ” นายสุทินกล่าว
นายสุทิน กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีขึ้นมาพูดวันก่อนอย่างเกรี้ยวกราดว่า เรื่องการตรวจสอบมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการอยู่แล้ว แต่ตนตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการก็เป็นคนที่มีตำแหน่งใกล้ชิดกับฝ่ายการเมือง นอกจากนั้นจากการอภิปรายของเพื่อนสมาชิกที่พบว่า คณะกรรมการวินิจฉัยจัดซื้อจัดจ้างไปแก้ระเบียบ ว่าจากเดิมที่วงเงินเกิน 5 แสนบาท ต้องใช้การประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ถ้ายังมี พ.ร.ก. ฉุกเฉินอยู่ก็ไม่ต้อง e-bidding ไม่ว่าจะกู้เท่าไร นี่คือเหตุผลในการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เพื่อเปิดช่องให้เกิดการทุจริตหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ และจากเดิมที่ให้มีดกการรายงานการใช้เงินต่อสภาปีละครั้ง แต่กำหนดให้รายงาน ครม. 3 เดือนต่อครั้ง ทำไมไม่มาต่อที่สภาให้สภาตรวจสอบด้วย
นายสุทิน กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าจะไม่ให้ผ่าน พ.ร.ก. ก็สงสารชาวบ้าน ถ้าผ่านง่ายก็เป็นห่วงลูกหลานในอนาคต รู้ว่าผ่านแน่ๆ แต่ก็อยากอภิปรายเพื่อบันทึกไว้ในสภาฯ ให้คนรุ่นหลังได้รู้ การงดออกเสียงคือการเปิดไฟเขียวให้ผ่านอย่างขมขื่น ขอให้ประชาชนเข้าใจ ไม่ใช่ฝ่ายค้านชกไม่สุดหมัดแต่ทำมาแล้วทุกอย่าง ยืนยันว่าไม่ท้อ ทำเต็มที่เท่าที่หนทางมี ยังมีข้อมูลอีกมากที่พูดได้ไม่หมด พร้อมขอโทษพี่น้องประชาชนที่พูดได้เพียงเท่านี้
“การลงมติ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ พิจารณาด้วยเหตุด้วยผล รัฐบาลจับเอาชาวบ้านมาเป็นตัวประกัน ถ้าไม่ให้ผ่านสงสารชาวบ้าน ให้ผ่านโดยง่ายก็สงสารลูกหลานในอนาคต เสียงฝ่ายค้านสู้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่อภิปรายทั้งหมดจะได้บันทึกว่าฝ่ายค้านพูดไว้อย่างไร สำหรับการลงคะแนน อะไรที่งดออกเสียงคือการที่เราให้ผ่านอย่างขมขื่น ส่วนที่ลงมติไม่เห็นชอบคือเรื่องที่เหลือเกินจริงๆ” นายสุทิน กล่าว