โป๊ะแตก”ศักดิ์สยาม”กลับลำขวาง รถไฟฟ้าสีเขียว เจตนานี้เพื่อชาติ-เพื่อใคร
วันนี้มีคำถามมากมาย ว่าเกิดอะไรขึ้น จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ย. 2563 ซึ่งจะต้องมีการการพิจารณาลงมติให้ความเห็นชอบ ร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว แต่ จู่ ๆ กลับเกิดประเด็นข้อขัดแย้ง จากการที่กระทรวงคมนาคม โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการฯ หยิบยกผลการศึกษาของกรมขนส่งทางราง ลงวันที่ 10 พ.ย. 2563 หรือ เพิ่งทำเสร็จ ก่อนการประชุมครม.ไม่กี่วัน ขึ้นมาคัดค้าน ทั้งที่การประชุม ครม. 13 สิงหาคม 2563 เพื่อพิจารณา ในเรื่องดังกล่าว ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ซึ่งมีอีกสถานะเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ก็มิได้มีท่าที ที่จะคัดค้าน ในร่างสัญญา ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียวมา แต่ อย่างใด
โดยเฉพาะกับข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 กระทรวงคมนาคม เคยเสนอผลการพิจารณาศึกษา เหตุผลและความจำเป็น เรื่องการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา การขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่ที่ประชุมครม.ให้มีมติรับทราบ
แต่พอถึงคราวการประชุมครม. วันที่ 17 พ.ย. 2563 นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม คนเดียวกับที่เคยสนับสนุนร่างสัญญา ร่วมลงทุนโครงการรถไฟ้าสีเขียว กลับแสดงท่าทีย้อนแย้ง โดยการยื่นข้อมูลคัดค้าน การขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า ผ่านที่ประชุมครม. ทำให้กระทรวงมหาดไทย ต้องถอนเรื่องกลับไปทบทวน หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนนำมาเสนออีกครั้ง
ประเด็นที่ต้องไล่เรียงให้ชัด ก็คือ การทำหน้าที่ของ นายศักดิ์สยาม รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมจริงหรือไม่ เพราะผลกระทบหนึ่งเกิดขึ้นทันที ก็คือ กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่รัฐบาลมอบให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว เกิดปัญหาว่าจะจัดการกับหนี้คงค้างเดิมกับทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ “บีทีเอสซี” เป็นค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2561 มากถึงกว่า 8,000 ล้านบาท อย่างไร
และทาง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ยอมรับตรง ๆ ว่าไม่มีเงินจ่าย และโอกาสเป็นไปได้สูงว่า “บีทีเอส” ในฐานะบริษัทเอกชน จำเป็นต้องหยุดวิ่งให้บริการ เพราะไม่อาจแบกรับภาระขาดทุนแทนภาครัฐได้
ทำให้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธาน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ต้องออกมายืนยันด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า ถึงแม้จะเกิดปัญหาใด ๆ แต่ บีทีเอสขอรับผิดชอบ ให้บริการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายต่อไป โดยไม่ทิ้งผู้โดยสารไว้ข้างหลัง จนกว่า จะมีความชัดเจน ในส่วนของ ผลการพิจารณา ของ คณะรัฐมนตรี ซึ่งก็มั่นใจ ว่า จะไม่มีปัญหา แต่อย่างใด เพราะ ทุกอย่าง เดินมาด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม ตามขั้นตอน ทางกฎหมาย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ให้ ความร่วมมือกันอย่างดี ในการที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และโดยส่วนตัว ไม่คิดที่ จะเอาเปรียบ รัฐ หรือ ประชาชน จึงได้ พยายาม แบกรับ ภาระการให้ บริการด้วยดี มาเกือบ 2 ปี
คำถามต่อมา การประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 มีความไม่ปกติแฝงเร้นอะไรหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบพบ เรื่องนี้มีการประชุมหาข้อสรุปจากทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง มาแล้วหลายรอบ ตามปรากฎข้อความสำคัญอยู่ในเอกสาร กระทรวงการคลัง ลงวันที่ 16 พ.ย.2563 ว่า กระ ทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการมาตามลำดับขั้นตอน และ กระทรวงคมนาคม ในฐานะที่เป็นหน่วยงานนำเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ได้เห็นชอบโครงการนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เพียงแต่เนื่องจากในช่วงนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง จาก นายปรีดี ดาวฉาย มาเป็น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ต้องขอความเห็นจากกระทรวงการคลังอีกครั้ง ตามมติครม.วันที่ 13 ส.ค .2563
และกระทรวงการคลัง ยังคงยืนยันให้ความเห็นชอบตามเดิม จากที่ทุกหน่วยงานเคยลงมติรับทราบ ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนฯในโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว มาก่อนหน้า โดยเฉพาะ กระทรวงคมนาคม ที่ร่วมให้ความเห็นตั้งแต่วันที่ 4 มิ.ย. 2563 และ ที่ประชุมครม. วันที่ 13 ส.ค. 2563 เคยรับทราบผลการพิจารณา ตามรายงานสรุปของกระทรวงมหาดไทยไปแล้วด้วย
ถ้าไล่เรียงไทม์ไลน์ชัดๆ แบบนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า โครงการขยายสัญญาสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์” ได้ผ่านความเห็นชอบของทุกหน่วยงานแล้ว จึงมีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การขอมติที่ประชุมครม.เพื่ออนุมัติ ในวันที่ 17 พ.ย. 2563
แต่กลายเป็นว่ากระทรวงคมนาคม โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กลับทำสิ่งย้อนแย้ง ด้วยการนำผลการศึกษาของกรมขนส่งทางราง ที่เพิ่งทำเสร็จเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2563 ขึ้นมาคัดค้าน โดยไม่สนใจแนวทางเดิม จากการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย มาตั้งแต่แรกเริ่ม
จึงเป็นคำถามว่าทำไม ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรมว.คมนาคม จึงไม่นำประเด็นความเห็นต่างๆ เหล่านี้ เข้าสู่ที่ประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และ หน่วยงานสำคัญ ๆ อย่างกระทรวงการคลัง เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปก่อนหน้า แต่รอจนถึงวันที่ครม.ควรได้พิจารณาลงมติ ให้ความเห็นชอบดำเนินโครงการ ถึงออกมาคัดค้าน ในขณะที่แผนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมส่วนต่อขยาย ระยะทาง 68.25 กิโลเมตร จะเปิดให้บริการครบทั้ง 59 สถานี อย่างเป็นทางการ มีกำหนดเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2563 นี้แล้ว
อะไรเป็นตัวแปรทำให้หลักคิดของ นายศักดิ์สยาม พลิกเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้ามองแบบการเมือง งานนี้ปฏิเสธให้เกิดข้อสงสัยไม่ได้ว่า เบื้องหลังที่เกิดขึ้น มีผลประโยชน์อื่นใดเข้ามาสอดแทรกหรือไม่ หรือ มีปมขัดแย้งอื่น ๆ ที่ทำให้กระทรวงคมนาคม และ พรรคภูมิใจไทย เปลี่ยนจุดยืนในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวม เนื่องจาก “บีทีเอส” เพิ่งมีปัญหากับกระทรวงคมนาคม ถึงขั้นต้องฟ้องร้องต่อศาลปกครองขอความเป็นธรรม จากการที่มีความพยายาม แก้ไขเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ประมูลสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม จนถูกตั้งคำถามว่า เป็นไปเพื่อเอื้อให้กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด หรือ BEM หรือไม่
ก่อนที่ ศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชน เพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ด้วยเห็นว่าเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งหลายทั้งปวง จึงต้องจับตาว่า ท้ายสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจประเด็นนี้อย่างไร เพราะรับรู้ รับทราบมาตั้งแต่ต้นว่า ผลสรุปร่วมของทุกหน่วยงาน ต่างให้ความเห็นชอบ สนับสนุนแผนร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว หรือ แผนอนุมัติขยายสัมปทานรถไฟฟ้าให้กับบีทีเอส มาโดยตลอด
ทั้งการประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.กระทรวงคมนาคม และ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอวาระแจ้งครม.เพื่อทราบ เรื่องผลการศึกษาเรื่องการพิจารณา เหตุผลและความจำเป็นในการขยายสัญญาสัมปทาน ทางด่วนและรถไฟฟ้าบีทีเอส ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ด้วยตัวเอง รวมถึงในคราวการประชุมครม. เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการหารือในประเด็นเดียวกันนี้อีกครั้ง จนเป็นที่มาหนังสือด่วนกระทรวงการคลัง ที่ กค 0820.1/20037 ในการยืนยันความเห็นชอบ ก็ปรากฎข้อความสำคัญว่า กระทรวงการคลังให้ความเห็นตามเดิม เหมือนที่ กระทรวงคมนาคม เคยเสนอผลการพิจารณารายงานผลการศึกษาฯ ตามหนังสือกระทรวงคมนาคม ด่วนที่สุด ที่คค (ปคร) 0202/192 ลงวันที่ 4 มิ.ย. 2563 ให้ที่ประชุม ครม.รับทราบไปแล้ว
เพียงแต่นาทีนี้ กระทรวงคมนาคม โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการฯ เลือกทำในสิ่งย้อนแย้งจากหลักการเดิม ที่ให้ความเห็นก่อนหน้า ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่กำลังถูกตั้งข้อสังเกตว่า เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กำลังมีความพยายามเดินเกมส์ใต้ดิน โดยการนำกลไกทางการเมือง เข้าขัดขวางแผนการลงทุนของบริษัทเอกชน อย่าง “บีทีเอส” ในทุกรูปแบบ โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบใดๆ แม้กระทั่งความเชื่อมมั่นนักลงทุน และ ความตั้งใจของพล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าคสช. ในประกาศแนวนโยบายเรื่องการเร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เพื่อคุณภาพชีวิตคนกรุงให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ทีมข่าวการเมือง รายงาน