นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายข้าว แนะขึ้นทะเบียนชาวนา เกษตรกร พ่อค้าคนกลางผู้ซื้อข้าว ผู้ส่งออกข้าว โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าวอิสระ เน้นบริหารข้อมูลแบบ Big Data
วันนี้ (5 มิ.ย.63) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำนางรจนา สีวันทา ชาวนาดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 พร้อมด้วยคณะผู้นำชาวนาโดยมีนายอัษฎางค์ สีหาราช ประธานคณะกรรมการกลางศูนย์ข้าวชุมชนระดับประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ เพื่อรับฟังนโยบายและหารือแนวทางการดำเนินงานด้านข้าว โดยมี นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านข้าว สรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า เข้าใจดีถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนาที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 ย้ำรัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรและชาวนา ด้วยหลักการที่เหมาะสมเน้นร่วมมือกันทำงาน ช่วงที่ผ่านมาก็ได้ไปพบปะกับกลุ่มเกษตรกรทั้งข้าว ยาง ปาล์ม เพื่อรับฟังปัญหาอุปสรรคของกลุ่มเกษตรกรมาแล้ว
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของศูนย์ข้าวชุมชนว่า มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ให้คำแนะนำเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี จัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมให้กับชาวนา โดยกรมการข้าวมีหน้าที่สำคัญให้การสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์และการผลิตข้าวรวมทั้งพัฒนาชาวนาของประเทศ ทั้งนี้ เมล็ดพันธุ์ข้าวมีการผลิตมาจาก 3 ส่วนคือ ภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชน โดยภาครัฐมีความต้องการเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้มากขึ้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตข้าวต้องไม่ผลิตเกินความต้องการ ต้องดูอุปสงค์อุปทานของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตัวเลขความต้องการปริมาณข้าวจะเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การตลาด ที่จะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวนามีปัญหาการถูกกดราคาข้าวมาตลอด ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาโรงสีกดราคารับซื้อข้าว โดยให้มีการขึ้นทะเบียนโรงสี ให้เกษตรกรขายข้าวให้กับโรงสีที่ขึ้นทะเบียนจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น เพื่อให้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งจะช่วยป้องกันปัญหาการปลอมปนข้าวด้วย โดยการขึ้นทะเบียนจะเป็นการบริหารข้อมูลเป็น Big Data ตั้งแต่ชาวนา เกษตรกร พ่อค้าคนกลางผู้ซื้อข้าว ผู้ส่งออกข้าว โรงสี ผู้ประกอบการค้าข้าวอิสระ หากทำได้เป็นมาตรฐานทั้งหมด ชาวนาก็จะไม่เดือดร้อน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำว่า ได้กำชับให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติจัดทำแผนธนาคารน้ำใต้ดิน ซึ่งมีข้อดีคือช่วยแก้น้ำท่วม เก็บน้ำได้มาก แต่ต้องระวังเรื่องสารเคมีที่อาจจะลงไปใต้ดิน รวมทั้งจะต้องพึ่งเครื่องสูบน้ำ นายกรัฐมนตรีได้แนะนำการอบข้าว ให้หาเครื่องอบข้าวให้เกษตรกร อาทิ เครื่องอบข้าวขนาดเล็ก โรงสีย่อยขนาดเล็ก เพื่อช่วยแก้ปัญหาการตากข้าวบนถนน จากนั้นให้พิจารณาทำแผนใหญ่ในภาพรวมเพื่อสนับสนุนชาวนาผู้ปลูกข้าว
นายกรัฐมนตรียังยืนยันถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ว่า ยังไม่ได้ตกลงเข้าร่วมความตกลง ฯ โดยรัฐบาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุด วันนี้เพียงแค่ขอความเห็นชอบในการเข้าไปเจรจาเพียงเท่านั้น เพราะหากเราเข้าเจรจาเราจะได้สิทธิเกษตร GAP และ GI กรณีการบริหารจัดการรายจ่ายงบประมาณแผ่นดินที่จะนำมาดูแลคนรายได้น้อย เกษตรกร กลุ่มเปราะบางเกือบร้อยละ 40 และการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ต้องศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณาก่อนอนุมัติโครงการ
โอกาสนี้ คณะผู้นำชาวนาได้มอบองค์แม่โพสพจำลอง และข้าวสารจำนวน 30 ตัน ให้กับนายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วย