“ส.ว.วีระศักดิ์” ยก”อ.โต้ง” ตำนานของตระกูล “ชุณหะวัณ” ที่น่าจดจำ
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา ย้อนรำลึกถึงนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ 1 ในทีมที่ปรึกษาบ้านพืษณุโลก ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการสำคัญทางการเมืองสมัยพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ มีใจความดังนี้ อ.ไกรศักดิ์ หรือพี่โต้ง เป็นผู้ที่ผมได้สัมผัสตั้งแต่ปี2531เมื่อ อ.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งผมเป็นผู้ช่วยวิจัยและเลขานุการวิชาการมาตั้งแต่ขณะที่ผมยังเรียนกฏหมายอยู่ชั้นปีที่สาม ได้กำหนดให้ผมตามท่านมาช่วยทำงานต่ออีกที่ “บ้านพิษณุโลก” ทุกวันหลังเสร็จจากการเรียนปีสี่ที่คณะนิติศาสตร์จุฬา
ที่บ้านพิษณุโลก..ผมจึงได้รู้จักกับ มรว.สุขุมพันธ์ บริพัตร
อ.ชวนชัย อัชนันท์
อ.ณรงค์ชัย อัครเศรณี
และมีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรโณ ที่ผมเรียนวิชากฏหมายมรดกกับท่านมาก่อนแล้วตั้งแต่อยู่ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาตอนปีสาม
และแน่นอน ได้พบคุณพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ และอาจารย์โต้ง ไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ซึ่งมักจะนั่งใช้ความคิดอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยกันแทบทั้งวัน..ทุกวัน
อาจารย์โต้งเป็นคนอารมณ์ดีเสมอ…เกรงใจพวกเด็กๆ เจ้าหน้าที่ๆ มาทำงานในบ้านพิษณุโลกทุกคน
สำเนียง อ.โต้ง จะช้าๆ นุ่มๆ พอๆ กับน้ำหนักตัว และด้วยความเป็นนักนิยมงานศิลปะและดนตรี ด้วย อ.โต้ง จึงมีท่าทีผสมผสานแบบนักคิดแนวเซอร์ๆ จึงไม่มีใครต้องหวั่นกลัวชายมีหนวดและดวงตากลมโตผิวคล้ำคนนี้..มีแต่ชื่นชอบและอยากเข้าไปสนทนาหาความคิดที่แยบคาย และขี้เล่นของท่านเสมอ
แต่ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผมคือ ความสนใจที่จะปกป้องคุ้มครองคนตัวเล็กๆ ที่ไร้อำนาจต่อรองเช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนไร้ที่พึ่งตามชายขอบ ผู้ใช้แรงงานฯลฯของ อ.โต้ง
อ.โต้ง สนใจเรื่องป่า น้ำ ภูเขา ทะเล สัตว์ป่า สิ่งแวดล้อมสนใจประเทศที่ยังยากจน และห่วงผู้อพยพจากภัยต่างๆ
ทูตต่างประเทศ นักวิชาการ นักวิจัย และเอนจีโอกลุ่มนั้นนี้แวะเวียนมาเข้าพบกับ อ.โต้งทุกวัน
บางครั้งผมมีเวลาก็ถูกชวนให้นั่งฟังการสนทนาไปด้วย จึงสัมผัสได้เสมอ ว่า อ.โต้งจริงใจ ทุ่มใจ ให้ประเด็นเหล่านี้แบบไม่มีวอกแวก
ครั้นพอบ่ายแก่ๆ ทีมที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือนอะไรจากทางการก็จะทยอยมาถึง และแบ่งกันรับประเด็นหรือนำประเด็นที่ไปขบคิด มาวิเคราะห์กันในรูปการสนทนา แล้วต่างก็แยกไปผลิตเอกสารย่อประเด็นมาเพื่อใส่แฟ้มเตรียมนำไปเสนอให้ท่านนายกฯชาติชายที่บ้านราชครูต่อช่วงเย็นค่ำบางครั้งผมก็ไปด้วยจนดึก..
อ.โต้ง เอาจริงเอาจังกับการนำทีมบรีฟนายกฯชาติชายมาก..บ่อยครั้งที่ต้องรอจนค่ำ ดังนั้น นอกจากที่บ้านพิษณุโลกแล้ว..บ้าน อ.โต้งซึ่งอยู่เรือนคนละหลังกับเรือนตึกของนายกฯชาติชายจึงเป็นอีกที่หนึ่งที่มีทั้งพวกเราจากบ้านพิษณุโลกและทีมศิลปินแนวชีวิต เอนจีโอและนักคิดจากต่างทิศและต่างถิ่นมานั่งปนๆ กันอยู่เสมอ
วันหนึ่ง พลเอกชาติชาย ตัดสินใจเคลียร์ความไม่ลงตัวใน ครม.ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อกลับมาจัดรัฐบาลใหม่
ทีมบ้านพิษณุโลกซึ่งเคยส่งผมไปดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานวุฒิสภาในเวลานั้น
ก็เลยต้องได้รับบทหนักในการรับลูกต่อเพราะประธานวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญขณะนั้นเป็นฉบับปี2521 ซึ่งกำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา ผมจึงมีหน้าที่รับเอกสารที่มีลายเซ็นของ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฏรเวลานั้นมาดำเนินการต่อให้เรียบร้อยร่วมกับเลขาธิการรัฐสภาเพื่อส่งขึ้นให้ประธานรัฐสภา(รตต.วรรณ ชันซื่อ) นำความขึ้นกราบบังคมทูลเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
สมัยนั้นผู้ใหญ่เกรงว่าจะมีใครมาทำอะไรให้ประธานรัฐสภาไม่ปลอดภัยหรือกดดันให้ท่านไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญนี้ได้
บ้านส่วนตัวของ อ.โต้ง ก็จึงถูกขอใช้เป็นที่พักรอลับๆ ของท่านประธานรัฐสภาโดยมีผู้จัดการรัฐบาลอย่างท่านบรรหาร ศิลปอาชาและทีมบ้านพิษณุโลกบางท่านเท่านั้นที่ได้รับสิทธิพิเศษให้มาอยู่ด้วยก่อนถึงเวลานำเอกสารสำคัญเดินทางไปเข้าเฝ้าฯที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
อ.โต้ง จึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการอันน่าตึงเตรียดทางการเมืองด้วยความอารมณ์ดีอีกเรื่องให้พวกเราที่เคยเกี่ยวข้องได้เอามาคุยระลึกกันอีกในช่วงสามสิบปีหลังด้วยรอยยิ้มกรุ่มกริ่ม..
นั่นคือฉากจำแรกที่สามสิบปีผ่านไป ผมก็ยังไม่เคยลืม
ตัดฉากมาอีกทีก็ตอน อ.โต้ง ช่วยท่านพลเอกชาติชาย ทำพรรคชาติพัฒนาที่แยกออกมาจากพรรคชาติไทย
ผมยังได้รับความเมตตาชวนมานั่งคิดนั่งคุยในฐานะน้องเก่าจากทีมเด็กบ้านพิษณุโลกต่อไปแต่คราวนี้มักย้ายฐานมาอาศัยใช้สำนักงานที่อาคารเป็นตึกคอนกรีตชื่อ ลาเมซอง ที่นั่น อ.โต้งก็ยังมีแขกกลุ่มที่ทำงานกับนักต่อสู้เพื่อคนไร้เสียงมาแลกเปลี่ยนสนทนาเช่นเคย
ตกเย็นก็มักไปที่เรือนส่วนตัวของ อ.โต้ง เล่นดนตรีกันเป็นวงจนดึก ซึ่งผมมักปลีกตัวหลบกลับบ้านก่อนเพราะมีงานเช้าตรู่รออยู่เสมอ
คนต่างวัย..หัวใจจากต่างพรรค แต่ล้วนเป็นพวกเดียวกัน มาทำให้บ้าน อ.โต้งเป็นเหมือนเขตปลอดศัตรู..ทุกคนมาจากต่างฐาน แต่มาอย่างมิตรทั้งสิ้น
ในราวสิบสามปีก่อนผมเคยเป็นทั้งสส.ฝ่ายค้านร่วมกับ อ.โต้ง (ขณะนั้นอาจารย์เป็นหนึ่งในผู้บริหารของพรรคประชาธิปัตย์)
ผมจึงมีโอกาสได้นั่งใกล้อ.โต้งในสภาอีกบ่อยๆ บางครั้งแม้ผมกลายเป็นสส.ฝ่ายรัฐบาลไป..แต่เราก็ยังสามารถนั่งข้างกันในสภาได้โดยไม่รู้สึกแตกต่าง
อ.โต้งยังคงอารมณ์ขันแต่หนักแน่นด้วยควมห่วงใยคนไร้เสียงไร้พลังนอกสภาเสมอ
ฉากนี้แม้ห่างจากฉากแรกกว่ายี่สิบปี
แต่สิ่งที่เหมือนเดิมตลอดคือ ความอบอุ่นจริงใจและความเกรงอกเกรงใจแต่มั่นคงทางความคิดความห่วงใยให้กลุ่มผู้ไร้เสียง
ตัดฉากอีกที ก็คือการได้ไปสนับสนุนให้กำลังใจอ.โต้งที่หอศิลป์กทม.ที่ อ.โต้งพยายามผลักดันให้เกิดมาตั้งแต่ยุคพลเอกชาติชายจะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำ เพิ่งมาสำเร็จตอนอ.โต้งเป็นประธานที่ปรึกษาผู้ว่ากทม.
ผมเป็นเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนต์แห่งชาติที่เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีวัฒนธรรมมาก่อนจึงมีเหตุและมีสาระที่มาสนทนาแลกเปลี่ยนทรรศนะกับ อ.โต้งและทีมได้ต่อ
เห็นได้ชัดว่า อ.โต้งก็ยังคงเมตตาและเอาใจใส่ดูแลและช่วยเหลือเหล่าศิลปินและคนรักศิลปะอย่างอบอุ่นเช่นเคย
ตัดฉากท้ายมาที่ การไปเยี่ยม อ.โต้งพร้อมอ.สุรเกียรติ์เมื่อทราบว่าอาการทรุดลง โดยพี่ชัชวาลและคุณโจ้ช่วยประสานเวลานัดเยี่ยมให้
แม้ อ.โต้งจะส่งเสียงพูดคุยไม่ถนัดแล้วแต่สายตาและท่าทีก็ยังเปล่งประกายแห่งความอบอุ่นเมตตา..เหมือนเดิม..
หูของ อ.โต้งยังชอบฟังเรื่องราวของการต่อสู้เพื่อความยั่งยืน
มือของ อ.โต้งยังคงโบกเบาๆอย่างนุ่มนวลให้กำลังใจแก่คนที่สุขภาพแข็งแรงกว่าให้กลับออกไปสู้ต่อ..ทำต่อในแนวทางที่เป็นธรรมเป็นประโยชน์แก่ผู้ยากลำบากและไร้เสียง..ไร้อำนาจต่อไป
ผมรู้สึกขอบคุณชะตาชีวิตที่ทำให้ได้มาเข้าใกล้ จึงได้ร่วมรับรู้ชุดความคิดและการแสดงออกอย่างอบอุ่นสม่ำเสมอของ อ.โต้ง ชายผู้เป็นหลานแท้ๆ ของจอมพลผู้เเข็งกล้า..ลูกชายคนเดียวของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นที่ยกย่องอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
อ.โต้งเป็นตำนานอีกคนของตระกูลชุณหะวัณ..ที่น่าจดจำ
แม้เย็นนี้ อ.โต้งจากไปอย่างสงบ..แล้ว
แต่ความสุภาพอ่อนโยนจริงใจ และความเอาใจใส่ในผู้มีน้อยกว่า ของอาจารย์ จะเป็นดั่งครูของพวกเรา ที่ติดตาประทับใจไปในฐานะตำนานให้ฝึกตาม
ขอให้ความดีงามที่อาจารย์ได้มอบไว้ต่อสังคมคนยากไร้และความจริงใจอบอุ่นที่มอบแด่มิตรทุกสายได้คุ้มครองส่งอาจารย์ให้ไปอย่างสุขและสบาย..ในแดนสุขาวดีที่งดงาม
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
11มิถุนายน2563นะ