บอร์ดการบินไทย หารือด่วนขอฟื้นฟูกิจการ ชง คนร.เคาะ 18 พ.ค.นี้ เล็งยื่นทั้งศาลไทย-สหรัฐ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนายอนุทินขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อรายงานแนวทางการฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงเที่ยววานนี้ (15 พ.ค.) ใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที
การหารือครั้งนี้มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าหารือด้วย โดยไม่มีกระทรวงการคลังเข้าร่วมหารือด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า การเพิ่มวงเงินให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหรือหาเงินทุนเพื่อจะมาลงคงลำบาก ซึ่งน่าจะเหลืออยู่วิธีเดียว คือ การฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งจะมีขั้นตอนทำพร้อมการปรับโครงสร้างผู้บริหารการบินไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ แต่ขึ้นกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยหรือกระทรวงการคลัง
“นายกรัฐมนตรีมีความเห็นในทิศทางเห็นด้วยที่จะฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งเป็นวิธีการที่สวยที่สุดถ้าทุกคนและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การบินไทยจะดำเนินธุรกิจต่อได้”
นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาแผนของการบินไทยเป็นแผนฟื้นฟูกิจการภายใน ไม่ใช่แผนการฟื้นฟูหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องแข่งกับเวลา และเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้วเป็นเรื่องของเจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีศาลเป็นผู้กำกับ และต้องมีผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
“ต้องเร่งหาข้อสรุปด้านนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่าเราต้องฟื้นฟูกิจการถ้าไม่ฟื้นฟูเราไปต่อไม่ได้ ตอนนี้เรามีสถานการณ์โควิด สายการบินไม่ได้บิน การเดินทางเข้าประเทศต่างๆไม่ได้ สายการบินในประเทศรายได้หายไปมาก ผมคิดว่าตอนนี้เหลือเพียงซอยเดียวแล้ว การฟื้นฟูกิจการเป็นทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องถอยกันบ้าง เพียงแค่ก้าวเดียวจะเดินหน้าได้ 5 ก้าว แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลังต้องพูดคุยกันอีกที”
ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย มีหลักการเมื่อมีผู้สะดุดล้มแทนที่จะขายทรัพย์สินหรือขายทอดตลาดแล้วนำมาแบ่งเฉลี่ยได้คนละนิดหน่อย แต่การให้โอกาสฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎกติกาใหม่ก็อาจทำให้กิจการอยู่รอด และธุรกิจเดินหน้าได้
บอร์ดการบินไทยเคาะชงฟื้นฟู
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการการบินไทยวานนี้ (15 พ.ค.) ได้มีการหารือการฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยการบินไทยจะดำเนินการหาบริษัทที่ปรึกษากฎหมายเพื่อจัดทำคำร้องและแผนฟื้นฟูกิจการยื่นต่อศาลล้มละลาย ซึ่งมีการพิจารณาการยื่นศาลล้มละลายไทย และคำร้องบางส่วนจะมีการยื่นศาลล้มละลายสหรัฐ โดยแนวทางดังกล่าวจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 18 พ.ค.นี้
ทั้งนี้ การยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เพราะการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยหากยื่นศาลล้มละลายแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งศาลจะนัดไต่สวนและพิจารณาผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
เตรียมแผนเจรจาเจ้าหนี้
นอกจากนี้ ในการประชุมฟื้นฟูการบินไทยที่มีนายอนุทิน เป็นประธานเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้สรุปความเห็นของกระทรวงคมนาคมถึงแนวทางการแก้ปัญหาการบินไทยที่ดีที่สุด คือ การบินไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย เพื่อทำให้การบินไทยได้มีเวลาปรับโครงสร้างภายในองค์กร ฟื้นฟูตัวเอง และไม่ต้องกังวลกับภาระหนี้สิน เพราะตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ หนี้ที่การบินไทยมีก็จะถูกพักชำระชั่วคราว
สำหรับภาระหนี้สินที่การบินไทยมีอยู่ในขณะนี้ พบว่ามีสูงกว่า 2 แสนล้านบาท โดยสัดส่วนมากกว่า 30% เป็นภาระหนี้สินเกี่ยวกับค่าเช่าเครื่องบิน มีเจ้าหนี้ คือ บริษัทต่างชาติที่เป็นเจ้าของเครื่องบิน เช่น แอร์บัส โดยถ้าการบินไทยเข้าสู่กระบวนการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จะต้องเตรียมแผนในการเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อขอพักชำระหนี้สินออกไปก่อน ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมต้องการให้การบินไทยรีบวางแผนด้วย
ชี้การบินไทยยังไม่ล้มละลาย
นอกจากนี้ กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายนั้น ยังไม่ถือได้ว่าการบินไทยเป็นองค์กรที่ล้มละลายจริง เพราะเป็นเพียงกระบวนการที่ทำให้การบินไทยในฐานะลูกหนี้ ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะทำให้การบินไทยปรับปรุงกิจการ โดยไม่ต้องห่วงการจ่ายภาระหนี้สิน และป้องกันปัญหากลายเป็นองค์กรที่ล้มละลายจริง เนื่องจากมีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน จนต้องถูกฟ้องล้มละลาย
ทั้งนี้ ผลที่ตามมาหลังจากการบินไทยเดินตามกระบวนการ พ.ร.บ.ล้มละลาย คือ การบินไทยยังสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หนี้สินที่มีอยู่จะถูกพักชำระชั่วคราวตามกฎหมาย การบินไทยสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อพักชำระ ยืดเวลาชำระหนี้ หรือจ่ายหนี้คืนด้วยหุ้น เป็นต้น แต่ขณะเดียวกันการทำงานในรูปแบบของคณะกรรมการ (บอร์ด) จะต้องถูกยุติบทบาทลง เนื่องจากต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ โดยมีเจ้าหนี้เป็นผู้อนุมัติ
ชงแก้มติ คนร.ค้ำประกันเงินกู้
แหล่งข่าว กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมมีความเห็นต่างกับกระทรวงการคลัง ในประเด็นของทางออกฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงเสนอให้การบินไทยจัดทำแนวทางแก้ไขปัญหาทั้ง 2 รูปแบบ เพื่อนำเสนอ คนร.ประกอบด้วย ข้อเสนอการขอเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ
รวมทั้งข้อเสนอการดำเนินการตามมติ คนร.เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่เน้นการแก้ปัญหาสภาพคล่อง โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 5.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงข้อเสนอการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งข้อเสนอนี้ต้องแก้มติ คนร.ที่ให้กรทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ เพื่อให้การบินไทยเริ่มต้นตามกระบวนการ พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งกระทรวงคมนาคมมอบหมายให้นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย จัดทำรายละเอียดเสนอ คนร.
ขอบคุณ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ