ไหนว่ากาแฟไม่ดี?

วันที่ 19 พ.ค.2563 ศ. นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจ เกี่ยวกับกาแฟ ดังนี้

 ไหนว่ากาแฟไม่ดี?

เผยแพร่มานานแล้วครับ แต่ยังใช้ได้

ได้รับการฝังหัวฝังใจกันมานานว่า กาแฟมีโทษมหันต์ ฟังแล้วเข้าขั้นถึงกับเป็นยาเสพติดร้ายแรง ทำให้กระดูกพรุน มีปัญหาโรคหัวใจ และอื่นๆจิปะถะ ในประเทศไทยกาลครั้งหนึ่ง ถึงกับมีการตั้งกรรมการชุดใหญ่ศึกษาพิษของกาแฟ คาฟีอิน (Caffeine) ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พี่น้องที่ใช้แรงงาน รวมทั้งชาวเรือประมง ทำงานขนส่ง แบกหามต้องตกเป็นเหยื่อโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังที่มีคาฟีอิน โดยตีโจทย์ให้ออกมาว่าคาฟีอินมีโทษ ทังนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาผิดจุด ถ้าจะบอกให้กินกาแฟตรงๆก็ได้ เสียเงินน้อยกว่าเครื่องดื่มชูกำลังที่แพงกว่าเป็นไหนๆ

หมอเองเป็นผู้ติดกาแฟชนิดต้องมีคาฟีอิน และดื่มวันละ 3-4 ถ้วย โดยไม่ต้องใส่น้ำตาล นม ให้เสียเวลา (ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่เป็นนักเรียนอยู่หอ กินกาแฟดำเลยง่ายดี) ก็เลยอ่านหาข้อมูลไปเรื่อยๆ กลับไม่พบว่ากาแฟเลวร้ายขนาดนั้น ที่ว่ากระดูกพรุนก็ไม่มีหลักฐานและผู้ดื่มกาแฟย่อมเข้าใจดีว่า กาแฟมีตัวเตือนอัตโนมัติว่าขณะนี้ดื่มมากไปแล้ว ได้แก่เริ่มใจสั่น มือสั่น เป็นสัญญาณ จะแย่ก็ตรงที่ว่าถ้าตื่นนอนแล้วกาแฟหมดบ้านจะเริ่มเป็นหุ่นยนต์ สมองช้าเชื่องคิดไม่ค่อยออก

แต่ที่มีโทษจริงๆ ก็คือผู้หญิงท้องในช่วง 3 เดือนแรก ถ้าดื่มกาแฟที่มีคาฟีอินมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นไปมีโอกาสแท้งได้สูง (วารสารนิวอิงแลนด์ 2000;343:1839-45) คนที่มีปวดหัวไมเกรน หมอก็ยังแนะนำให้ดื่มกาแฟพร้อมกับยาแก้ปวด เพราะขณะปวดไมเกรน ลำไส้ กระเพาะอาหารจะเคลื่อนไหวช้า ทำให้การดูดซึมของยาช้าลงไปด้วย กาแฟจะทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้ราบรื่น และยาจะได้ออกฤทธิ์ทัน

และแล้วก็มาถึงรายงานการศึกษาน่าตื่นเต้นในวารสารนิงอิงแลนด์ วันที่ 17 พฤษภาคม 2012 โดยคณะผู้วิจัยได้รับทุนจากสถาบันสาธารณสุข (NIH) และสถาบันมะเร็งสหรัฐ โดยที่เจาะประเด็นว่าการดื่มกาแฟจะมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตสูงกว่าปกติหรือไม่ โดยศึกษาในผู้ชาย 229,119 คน ผู้หญิง 173,141 คน ที่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 71 ปี โดยผู้เข้าร่วมการศึกษาจะต้องไม่มีโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ และมะเร็งมาก่อน ทั้งนี้จากการติดตามตั้งแต่ปี คศ.1995 ถึง 2008 มีผู้ชายเสียชีวิต 33,731 ราย ผู้หญิง 18,784 ราย และเมื่อตัดผู้ที่ดื่มกาแฟและสูบบุหรี่ไปด้วยกันออกไป เนื่องจากบุหรี่เป็นตัวร้ายสุดของโรคเส้นเลือด หัวใจ สมอง มะเร็ง และอื่นๆ ผลปรากฏว่า คนดื่มกาแฟกลับมีการตายน้อยกว่า สำหรับโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ทางระบบทางเดินหายใจ อัมพฤกษ์ เบาหวาน อุบัติเหตุ การติดเชื้อ แต่สำหรับมะเร็งนั้นตายพอกัน และเป็นที่น่าแปลกใจตรงที่ว่าพวกชอบดื่มกาแฟ ตั้งแต่ 1 ถ้วย มากจนไปถึงกว่าวันละ 6 ถ้วย จะเป็นพวกชอบปล่อยเนื้อปล่อยตัว และดื่มเหล้ามากกว่า 3 แก้วต่อวัน เป็นจำนวน 10-13 % ในกลุ่มชายชอบกาแฟ และ 2-3 % ในหญิงชอบกาแฟ ทั้งหญิงและชายชอบกาแฟจะมีประมาณ 16-20% เท่านั้น ที่ออกกำลังเป็นล่ำเป็นสันมากกว่า 5 ครั้งต่อสัปดาห์ และบริโภคผักและผลไม้ วันละแค่ 1-2 ครั้ง รวมทั้งชอบกินเนื้อแดง ซึ่งถือเป็นของไม่ดีต่อสุขภาพ ต่างจากคนที่ไม่ดื่มกาแฟเลย ซึ่งเคร่งครัดมากกว่า

ปรากฎการณ์ที่แปลกใน กลุ่มชอบกาแฟที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตน้อยกว่าก็คือ การที่จะเห็นความสัมพันธ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดื่มมากขึ้นจนถึง 6 ถ้วย หรือกว่านั้น และที่น่าดีใจสำหรับผู้ชอบกลิ่นและรสกาแฟ แต่รังเกียจหรือกลัวคาฟีอิน ปรากฏว่าคนดื่ม ดี-แคฟ (Decaffeinated) ก็ตายน้อยกว่าเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ผลของการศึกษานี้เป็นในลักษณะเชิงระบาดวิทยาการสังเกตุ ซึ่งมีการติดตามระยะยาว แต่ไม่อาจระบุว่า กาแฟมีผลในการป้องกันโรคต่างๆ ที่กล่าวมาโดยตรง แม้ว่ากาแฟจะไม่ได้มีแต่คาฟีอินอย่างเดียว แต่ยังมีสารต่างๆที่มีประโยชน์อื่นๆอยู่ด้วย หรือเป็นเพียงปรากฎการณ์ร่วมเท่านั้น

ถึงตรงนี้ คนชอบกาแฟรวมทั้งหมออีกคน คงดื่มกาแฟได้ด้วยความสบายใจ พร้อมทั้งจิบเหล้าไปด้วย (อย่าลืมชาย 2 หญิง 1 แก้ว ต่อวัน) โดยไม่ต้องกลัวว่า กาแฟจะทำให้เสี่ยงต่อโรคภัยมากขึ้น และมีโอกาสตายเร็วมากกว่ากำหนด จากบทเรียนของกาแฟ หรือ เหล้าสุราก็ตาม น่าจะโยงไปถึงการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยที่ผ่านมาเราจะใช้ความรู้สึกรังเกียจ เห็นแต่โทษ เชื่อสิ่งที่พูดกันมาลอยๆ เราเห็นแต่ห้ามดื่ม ห้ามสูบตามโทรทัศน์ ป้ายตามถนนหนทาง มีรูปน่าเกลียด น่ากลัว แต่กลับไม่มีใครกลัว แม้แต่รูปที่ซองบุหรี่ เสนอว่าต้องวางแผนระยะยาวซึ่งต้องทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ คือพูดตามความจริง โทษ และ ประโยชน์ จะมีโทษด้วยกลไกอะไร ที่ปริมาณใด ประโยชน์มีแค่ไหน วันดีคืนดีเด็กเริ่มโต ริทั้งดื่มและสูบ โดยไม่มีภูมิคุ้มกันทางความรู้มาก่อน สุราและบุหรี่มีผลต่อสมองความสุข เหมือนการได้รับรางวัลถ้าไม่มีสมองส่วนยั้งคิด ห้ามปรามเป็นทุนเดิม ก็จะยั้งไม่อยู่ เมื่อโตขึ้นดูแต่ป้ายห้ามอย่างเดียว โดยไม่มีเหตุไม่มีผล น่าจะไม่มีประโยชน์เต็มที่

คุณตำรวจทั้งหลายที่ตั้งด่านดักจับคนดื่มเหล้า น่าจะส่งกำลังไปตั้งด่านตั้งแต่หน้าแหล่งดื่มทั้งหลาย ก่อนจะออกมาถึงท้องถนน สำหรับเจ้าของร้านเองก็ต้องมีหน้าที่ห้ามลูกค้าที่สติถูกครอบครองด้วยฤทธิ์สุรา ห้ามขับรถกลับ ทางที่ดีเจ้าของร้านน่าจะหาที่เป่ามาให้ลูกค้าตรวจสอบตนเองก่อนออกจากร้านทุกคน และมีหน้าที่เรียกรถแท็กซี่ส่งลูกค้ากลับบ้านให้เป็นเรื่องเป็นราว ส่วนที่จะห้ามไม่ให้ดื่มเด็ดขาดตลอดชีวิต อาจเป็นไปไม่ได้ทั้งหมดทุกคน เห็นชัดตำตากลางสภา ทำยังไง ให้ดื่มไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและต่อผู้อื่น แต่สำหรับบุหรี่ต่อรองไม่ได้เด็ดขาด ต้องปูพื้นความรู้แต่เล็ก ตลอดเวลา (หาอ่านโทษของบุหรี่ได้จากบทความในกรุงเทพธุรกิจ นี่แหละครับ) ที่สูบคงต้องหยุดเด็ดขาด เพราะหาประโยชน์อะไรไม่ได้ แม้แต่อย่างเดียว แถมส่งความตายให้คนรอบข้าง

พูดเรื่องกาแฟอยู่ดีๆ เฉไฉไปเรื่อง เหล้า บุหรี่เสียนี่ ฤทธิ์กาแฟครับกระฉับกระเฉงเกินเหตุ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

บก.สื่อออนไลน์ชลนิวส์ทีวีออนไลน์ นภชนก เหมือนนามอญ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ สื่อมวลชน พร้อมผู้นำท้องถิ่น บริษัท ห้างร้าน ร่วมแสดงความยินดีกันเพียบ

บก.สื่อออนไลน์ชลนิวส์ทีวีออนไลน์ นภชนก เหมือนนามอญ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ สื่อมวลชน พร้อมผู้นำท้องถิ่น บริษัท ห้างร้าน ร่วมแสดงความยินดีกันเพียบ

Read More »

ข่าวยอดนิยม