เปิปพิสดารระวัง.. อธิบดีธัญญา ส่งหมอล็อต ลุยป่าจับค้างคาวมงกุฎ 23 สายพันธุ์ ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 หลังประเทศจีนตรวจพบเชื้อ ในตัวค้างคาวมงกุฎ หวั่นพวกชอบกินสัตว์ป่าอาจติดเชื้อ หากพบในค้างคาว
วันที่ 13 มิ.ย. 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่มีรายงานจากประเทศจีนว่า ไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดในคนอยู่ในขณะนี้นั้น มีลักษณะเดียวกันกับไวรัส ที่ตรวจพบในค้างคาวมงกุฎ ซึ่งในเมืองไทยเรา มีค้างคาวสายพันธุ์นี้ถึง 23 สายพันธุ์ แต่ยังไม่เคยมีการค้นหา ตรวจสอบเชื้อไวรัส จากค้างคาวมงกุฎ มาก่อนเลย
ทั้งนี้ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการให้นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าสำรวจบริเวณพื้นที่ ถ้ำสะดอ หมู่ 2 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี พร้อมประสาน ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรก ที่ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ในไทย อาจารย์ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี ทหารพรานนาวิกโยธิน 544 ร่วมกันตรวจหาค้างคาวภายในถ้ำดังกล่าว
กำลังเจ้าหน้าที่ได้วางแผน ใช้ตาข่ายดักจับค้างคาวได้มากกว่า 100 ตัว โดยนำมาเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย และอุจจาระ เพื่อนำตัวอย่างที่เก็บได้ ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 และเชื้อไวรัสอื่นๆที่สำคัญ อย่างละเอียดในห้องแล็ปต่อไป
คณะของหมอล็อต นายสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทาง ไปยังโรงเรียนบ้านคลองคต หมู่ 7 ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ร่วมกันให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคติดต่อจากค้างคาว แก่ผู้นำชุมชน ครูและนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว พร้อมด้วยคณะมวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการอยู่ร่วมกับค้างคาว อย่างปลอดภัย โดยในการให้ความรู้ของคณะ ทำให้ทราบจากผู้นำชุมชนว่า ปัจจุบันคนงานในสวนลำไย จากประเทศเพื่อนบ้าน บางส่วนใน อ.โป่งน้ำร้อน ยังกินค้างคาว ที่มาติดตาข่ายดักค้างคาว และพากันจับกินเป็นอาหาร
หลังทราบเรื่อง คณะเจ้าหน้าที่จึงได้เดินทางไปยังสวนลำไย หลายแห่งใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน โดยให้ความรู้กับ ชาวสวนในเรื่องการเฝ้าระวังไวรัสโควิด 19 ที่มาจากค้างคาว นอกจากนี้ ได้มอบหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และสิ่งของอื่น ๆ ที่ได้รับการบริจาคจาก “วชิรวิชญ์ ชีวอารี” หรือ “ไบร์ท” นักแสดงชื่อดัง ให้แก่โรงเรียน และผู้นำชุมชนไปใช้ประโยชน์ในการดูแลตัวเองต่อไปด้วย
ดร.สุภาภรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเริ่มมีการตรวจสอบค้างคาวมงกุฎ เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า ไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดในคน มีลักษณะเดียวกันกับไวรัส ที่พบในค้างคาวมงกุฎ ที่สำคัญได้มีการพบค้างคาวชนิดนี้ในไทยด้วย ในเมืองไทยมีค้างคาวมงกุฎถึง 23 สายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องค้นหาโรค และไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมงกุฎ ทุกสายพันธุ์ในเมืองไทย
เป็นครั้งแรกของไทย ที่มีการหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมุงกุฎ อย่างเป็นระบบ ทั้งนี้การวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาว ที่เมืองไทยทำมาเกือบ 20 ปี แต่ก็ยังไม่เคยมีการตรวจสอบ ค้างคาวมงกุฎแต่อย่างใด จึงยังไม่มีข้อมูลว่า ค้างคาวมงกุฎมีเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือไม่ ซึ่งจะต้องทำการตรวจสอบ หาคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป
ดร.สุภาภรณ์ เผยต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ถ้ามองการพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมงกุฎ แบบเดียวกับที่พบค้างคาวสายพันธุ์นี้ในประเทศจีน เมืองไทยก็มีโอกาสจะพบเชื้อไวรัสนี้ แต่อัตราการติดเชื้อจะมีโอกาสมากหรือน้อย ต้องตรวจสอบกันต่อไป ส่วนเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่จะหมดไปจากเมืองไทย ไวรัสเดียวกันนี้จะกลับเกิดขึ้นในไทย จากค้างคาวมงกุฏหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ในการกินอาหารของคนไทย หากไม่กินค้างคาว ก็ยากจะได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ที่เป็นห่วงคือ คนที่ยังนิยมกินค้างคาวเป็นอาหาร มีโอกาสจะติดเชื้อได้ง่ายอย่างยิ่ง
ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล เปิดเผยว่า เป็นที่น่ากังวลที่ยังมีคนนิยมกินค้างคาว เพราะมีความเชื่อผิดๆ การกิน การจับ มีโอกาสจะได้รับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคใด ๆ ก็ได้ จึงจำเป็นต้องทำคู่มือ ว่าด้วยเรื่องการอยู่ร่วมกับค้างคาว อย่างปลอดภัย แจกจ่ายให้ประชาชน ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยกำลังศึกษาเส้นทางการอพยพ เส้นทางการหากินของค้างคาว โดยเน้นไปที่ค้างคาวมงกุฏ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส หรือโรคที่มาจากค้างคาวในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับไวรัส แต่วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุด คือการไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติหรือบุกรุกป่า ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เชื้อโรคใดๆ จากสัตว์ป่าก็ไม่สามารถมาสู่คนได้
วุฒิเดช ก้อนทองคำ ผู้สื่อข่าว จ. กาญจนบุรี