“อเมริกา” ระบบการแพทย์ดีที่สุดในโลก แต่คุมโควิดสู้ไทยไม่ได้
“อเมริกา” ระบบการแพทย์ดีที่สุดในโลก แต่คุมโควิดสู้ไทยไม่ได้พระมหา นายแพทย์ สมชาย ฐานวุฑฺโฒ ได้โพสต์ ข้อความ ผ่าน บล็อกดิท ชี้ให้เห็นถึง สถานการณ์วิกฤตโควิด19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ระบบการแพทย์ดีที่สุดในโลก แต่การรักษา รับมือสถานการณ์ กลับสู้ประเทศไทยไม่ได้ เกิดอะไรขึ้นกับอเมริกา ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ประเทศอเมริกาที่มีระบบการแพทย์ที่ดีที่สุด กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ตายมากที่สุดในโลก กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโควิด
คำตอบคือ…อเมริกาเก่งด้านการค้นคว้าวิจัยตัวยาใหม่ๆ วิธีการรักษาโรคใหม่ๆ บริษัทยา, Bio-technology และการแพทย์ ที่มีรายได้สูงที่สุดในโลกจำนวน 31 บริษัท เป็นบริษัทอเมริกาถึง 17 บริษัท มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก บริษัทยาที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Johnson&Johnson ก็เป็นบริษัทอเมริกา
หากใครป่วยเป็นโรคแปลกๆ ต้องการวิธีการรักษาใหม่ๆ ที่ล้ำยุค และมีสตางค์พร้อมจ่าย เดินทางไปรักษาที่อเมริกาจะไม่ผิดหวัง มีโรงพยาบาลชั้นเยี่ยม หมอชั้นยอดตัวยาดีๆ รออยู่ แต่ก็ต้องพร้อมรับใบเสร็จค่ารักษาที่สูงจนน่าตื่นตะลึงเช่นกัน
อังกฤษที่ได้รับยกย่องว่า มีระบบการแพทย์ดีเป็นอันดับ 2 ของโลก ก็มีลักษณะคล้ายอเมริกา
ที่เน้นด้านการค้นคว้าวิจัยตัวยาและวิธีการรักษาโรคใหม่ๆ และมีค่ารักษาที่แพงมาก เพียงแค่ไปขอใบรับรองแพทย์ว่าสุขภาพแข็งแรงสามารถขึ้นเครื่องบินได้ (Fit to Fly) ซึ่งแพทย์ก็วัดอุณหภูมิ ใช้หูฟังจิ้มฟังการหายใจของปอด ใช้เวลาตรวจราว 5 นาที ไม่มีแม้แต่การจับชีพจร
วัดความดัน คิดค่าตรวจ 5,000 บาท (130 ปอนด์) และคิดค่าพิมพ์ใบรับรองแพทย์อีก 1,500 บาท (40 ปอนด์) ทั้งที่จริงๆ ก็มีแบบฟอร์มข้อความมาตรฐานอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว
เจ้าหน้าที่แค่พิมพ์ชื่อ วันเดือนปีเกิดใส่ลงไปเท่านั้น อุดฟันธรรมดาที่คลินิกหมอฟันริมถนน ซี่ละ 12,000 บาท
ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมฝรั่งจำนวนมากบินมารักษาโรค ทำฟันที่ประเทศไทย เพราะรวมค่าเครื่องบินแล้วก็ยังถูกกว่ารักษาในประเทศตนเองมากโดยคุณภาพการรักษาที่ใกล้เคียงกัน
ความล้มเหลวของระบบประกันสุขภาพในอเมริกา เมื่อบิล คลินตัน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2536ฮิลลารี่ คลินตัน ซึ่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1
ประกาศว่าตนตั้งใจจะทำงานสร้างระบบประกันสุขภาพในชาวอเมริกัน แต่ตลอด 8 ปี ที่อยู่ในอำนาจก็ทำได้เพียงเล็กน้อย เพราะเสียงส่วนใหญ่ในสภาคองเกรสและวุฒิสภา คุมโดยพรรคริพับริกันฝั่งตรงข้าม และอิทธิพลของบริษัทยาขนาดใหญ่มีมาก
ต่อด้วยยุคของประธานาธิบดีบุช (คนลูก) อีก 8 ปี ตามมาด้วยยุคของประธานาธิบดีโอบามา
อีก 8 ปี จึงทำระบบประกันสุขภาพที่เรียกว่า Obama Care ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยการเจรจาต่อรองกันมากมายซึ่งก็ทำได้เพียงบางส่วน
ยังมีชาวอเมริกันอีกร่วม 30 ล้านคน ไม่มีประกันสุขภาพที่มีประกันสุขภาพก็ยังต้องจ่ายเอง 40 % บ้าง 60 % บ้าง ตามประเภทของประกันพอมาถึงยุคทรัมป์ ก็ประกาศว่าตั้งใจจะยกเลิก Obama Care โดยสรุปอเมริกาใช้เวลา 27 ปี ตั้งแต่พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน ก็ยังทำระบบประกันสุขภาพไม่ได้ถึงไหน
คนอเมริกัน ถ้าป่วยขนาดต้องนอนโรงพยาบาลเป็นสัปดาห์ๆค่ารักษาจะแพงมากเป็นล้านบาท หรือหลายล้าน จำนวนมากต้องขายบ้านขายรถ หมดเนื้อหมดตัวกลายเป็นคน Homeless ก็มี ผู้ป่วยโควิดเข้าโรงพยาบาลต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ นอนรักษาตัว 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายจะจ่ายบิลค่ารักษาราว 2-3 ล้านบาทแม้คนที่มีประกันก็ต้องจ่ายเองเป็นล้านบาท หายจากโควิดอาจช็อกตายเพราะบิลค่ารักษาแทน ผู้ป่วยโควิดที่ไปโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จึงเป็นผู้ป่วยอาการหนัก ไม่ไหวแล้วจริงๆอัตราการตายจึงสูง
ส่วนผู้ติดเชื้อที่อาการยังไม่มาก ก็จะอยู่บ้านเพราะกลัวค่ารักษาพยาบาล และเป็นตัวแพร่เชื้อระบาดในชุมชนต่อไป ทำให้อเมริกา lockdown มาเป็นเดือนแล้ว ผู้ติดเชื้อใหม่แต่ละวันก็ยังเกิน 30,000 คน
แปลกที่รัฐบาลอเมริกามานั่งแก้ปัญหาปลายเหตุ ใช้เงินมหาศาลเกือบ 100 ล้านล้านบาทกู้เศรษฐกิจ ทำไมไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยประกาศนโยบายรักษาโควิดฟรี ให้ผู้ติดเชื้อทุกคนกล้าไปโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ คุมการระบาดให้อยู่ ซึ่งถ้าทำเนิ่นๆ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดก็จะไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำไป
ประชาชนก็จะไม่ต้องป่วย ต้องตายมากๆ เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็ว แม้เป็นประเทศ อภิมหาอำนาจ แต่ผู้บริหารประเทศไม่เก่ง บริหารมั่วๆ ก็นำความเสียหายให้ประเทศและประชาชนได้มาก
โดยสรุปคือ ระบบการแพทย์ของอเมริกาและอังกฤษ ออกแบบไว้สำหรับการทำกำไร
การดูแลรักษาคนมีสตางค์ที่พร้อมจ่ายแพงๆ ไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อดูแลประชาชนโดยรวมทั้งหมด เมื่อเกิดโรคระบาดไปถึงคนจำนวนมาก จึงเกิดโกลาหลในระบบการแพทย์ ดูแลไม่ไหว คุมการระบาดไม่อยู่ ป่วยมาก ตายมาก
ระบบสาธารณสุขประเทศไทย ในปี พ.ศ.2520 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเป้าหมายการทำงานโดยสรุปเป็นสโลแกนว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้าในปี 2543” (Health for All by the Year 2000) ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็รับฟังเป็นสโลแกนโก้ๆ แต่ประเทศไทยได้ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ในขณะที่อาตมาภาพเรียนอยู่ที่คณะแพทย์จุฬาฯ เราได้มีการคุยหารือเรื่องนี้กันมาก
บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศได้ระดมความคิดกันขนานใหญ่ว่า เราจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ เราได้วิเคราะห์กันถึงปัญหาของสังคมไทย และสรุปสาเหตุเป็นวัฏจักรทางลบของ 3 องค์ประกอบ คือ “ โง่ จน เจ็บ ”
เพราะโง่…จึงทำให้ยากจน และเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย
เพราะจน…จึงทำให้ไม่ได้รับการศึกษาที่ดี ทำให้โง่และเจ็บไข้ได้ป่วยง่าย
เพราะเจ็บ…จึงทำให้ยากจน และขาดโอกาสทางการศึกษา
บุคลากรทางการแพทย์ของประเทศ จึงตัดสินใจมุ่งมั่นว่า เราจะต้องช่วยกันทะลายวัฏจักรโง่ จน เจ็บ นี้ให้ได้ โดยเริ่มจากสิ่งที่เรารับผิดชอบโดยตรง คือ การดูแลสุขภาพประชาชน
อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ก็ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ ทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุขระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ให้คำแนะนำการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน
ประสานงานป้องกันโรคระบาด การส่งต่อผู้ป่วย โดยให้ชุมชนเป็นผู้คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติครบและมีจิตอาสา โดยมีแรงจูงใจคือ การให้เกียรติ การยอมรับจากชุมชน และสิทธิในการรักษาพยาบาลของตัวอสม. และครอบครัว
ผ่านการบ่มสร้าง ทำงานมากว่า 40 ปี ปัจจุบันเรามีอสม.ทั่วประเทศอยู่ราว 1,040,000 คน
แต่ละคนดูแลประชาชนในพื้นที่ราว 8 – 15 ครัวเรือน (ในเขตเมืองจะมีเฉพาะในชุมชนแออัด)
เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขที่เข้มแข็งเป็นระบบ ครอบคลุมทุกหย่อมบ้านอย่างนี้ เป็นสิ่งที่อเมริกา อังกฤษและประเทศทางตะวันตก ไม่มี
เมื่อถึงคราวเกิดโรคโควิดระบาด เครือข่ายอสม.ที่เข้มแข็งนี้ ก็ได้แสดงศักยภาพให้โลกเห็น
ระบบสาธารณสุขของไทยมีโครงข่ายที่สามารถดูแล ไปถึงประชาชนทุกครัวเรือนในประเทศ
คำแนะนำ ข้อปฏิบัติที่ทางการกำหนด ก็ได้ถูกถ่ายทอดไปสู่ประชาชนทั้งหมดอย่างเป็นระบบ
ระบบประกันสุขภาพของไทย การรวมพลังความคิดสติปัญญาของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย เพื่อทะลายวัฏจักร โง่ จน เจ็บ ได้สุกงอมและบรรลุผลสำเร็จครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2544 เมื่อทางรัฐบาลเห็นด้วยและผลักดันนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค”
เป็นระบบประกันสุขภาพแบบครอบคลุมประชากรทั้งหมดทั่วประเทศ และใช้เวลาเพียง 1 ปี ตั้งแต่กำหนดนโยบาย ทดลองใช้ในบางพื้นที่ ขยายผลบังคับใช้ทั่วประเทศ เพราะเป็นยุคที่การเมืองเข้มแข็ง
สิ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกาพยายามทำมา 27 ปียังไม่สำเร็จ แต่ประเทศไทยใช้เวลาเพียง 1 ปี
สร้างระบบประกันสุขภาพที่ดีที่สุดในโลกได้สำเร็จ แม้องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศยกย่องเป็นแบบอย่างแก่นานาประเทศ สิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่า คนไทยมีศักยภาพ ถ้าเราตั้งใจทำอะไรจริงๆ แล้วสามัคคีช่วยกันทำ เราทำได้ ทำได้อย่างดีที่สุดด้วย
ผู้ป่วยโควิดทุกคนในไทย สามารถรับการรักษาฟรีจนหาย ไม่ว่าอาการจะหนักเบา ต้องนอนโรงพยาบาลกี่วัน เราไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาล ผู้ป่วยโรคต่างๆ ในไทยที่มีสตางค์ก็สามารถเลือกไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน ที่มีบริการดีระดับโลก มีห้องพิเศษอยู่
แต่แม้คนยากคนจน เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็สามารถไปหาหมอที่โรงพยาบาล อาจไม่ได้อยู่ห้องพิเศษ ต้องอยู่ห้องผู้ป่วยรวม คุณภาพการบริการไม่ดีเท่าโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องจ่ายแพง แต่คุณภาพในการรักษาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก นี้คือสิ่งที่ประชาชนทั่วไปในอเมริกาและอังกฤษไม่เคยได้รับ
โดยสรุป ระบบสาธารณสุขของไทยออกแบบมาเพื่อ ดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคนทั้งประเทศ เราจึงสามารถยับยั้งการระบาดของไวรัสโควิดได้ผลดี จนได้รับคำยกย่องจาก องค์การอนามัยโลกและสื่อของประเทศต่างๆ มากมาย
ขอบพระคุณบทความดีๆจากท่าน พระมหา ดร. นายแพทย์ สมชาย