ชาวพัทยากว่า 80 % หนุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล

ชาวพัทยากว่า 80 % หนุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล แก้ปัญหาจราจร-ยกระดับขนส่งรับ EEC คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ภายใต้มูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

ชาวพัทยากว่า 80 % หนุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล แก้ปัญหาจราจร-ยกระดับขนส่งรับ EEC คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ภายใต้มูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

ตามที่เมืองพัทยาว่าจ้างคณะกลุ่มที่ปรึกษาประกอบด้วย บจก.อินทิเกรเทด เอนจิเนียริง คอนซัลแทนท์ บจก.ซี คอนซัลท์ เอนจิเนียริง และ บจก.แพลนโปร จัดทำโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยได้จัดประชุมใหญ่และประชุมย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนโดยเสียงส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนเลือกระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวขนาดเล็ก Monorail/AGT นำร่องเส้นทางสายสีเขียว สถานีรถไฟพัทยา-ถนนพัทยาเหนือ-ถนนพัทยาสาย 2-แหลมบาลีฮาย ระยะทาง 8.15 กม.

ซึ่งเป็นระบบขนส่งสาธารณะแบบมีทางนำ (Fixed Guideway) ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานขับเคลื่อน ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวจะสร้างบนโครงสร้างยกระดับที่เป็นได้ทั้งคอนกรีตและโครงถัก โดยมีจุดเด่นที่ใช้ผิวทางน้อย (Small Footprint) รัศมีความโค้งน้อย ประมาณ 30-50 เมตร เหมาะกับการผสานเข้ากับเขตทางที่จำกัด แต่มีข้อเสียในเรื่องการปฏิบัติการและบำรุงรักษาที่ยุ่งยากกว่าระบบรางแบบทั่วไป (Conventional) นอกจากนั้น ด้วยทางวิ่งที่มีลักษณะเฉพาะ จึงทำให้การออกแบบสายทางจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างสายทางต่าง ๆ ไว้ด้วยนั้น

ล่าสุด วันที่ 20 ส.ค.63 ที่ศูนย์ประชุมมหาไถ่ พัทยา จ.ชลบุรี ได้มีการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 3 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็น ที่มีนายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา ปฏิบัติราชการแทนปลัดเมืองพัทยา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม

นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดโครงการ ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่าการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 นี้เพื่อนำเสนอผลการศึกษาทางด้านวิศวกรรม ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และนำข้อคิดเห็นและขอเสนอแนะที่ได้ไปแก้ไขเพิ่มเติมในรายงานการศึกษาให้มีความครบถ้วน ก่อนนำผลการศึกษาส่งให้เมืองพัทยา

สำหรับการรับฟังความคิดเห็น 2 ครั้งที่ผ่านมาหลังจากได้มีการนำเสนอโครงการ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นตัวกับการดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้าระบบรถรางเบา หรือโมโนเรล ถึง 80% ซึ่งอาจมีประชาชนบางส่วนเกิดความกังวลในเรื่องของพื้นที่การก่อสร้าง เนื่องจากถนนนพัทยาสาย 2 มีความคับแคบ หากมีการก่อสร้างจะส่งผลกระทบกับการจราจรและอาจจะทำให้สภาพภูมิทัศน์ของเมืองพัทยาเสียไป

ที่ผ่านมาทางที่ปรึกษได้มีการนำเสนอรูปแบบรถไฟฟ้าโมโนเรล ระบบเดียวกับที่มีการดำเนินการในกรุงเทพฯ อยู่ในขณะนี้ทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง แต่จะมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งระบบโมโนเรลเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงกว่าระดับถนนเดิมแล้วแต่การกำหนด การก่อสร้างก็ที่มีผลกระทบน้อย เพราะจะมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อที่กว้างเพียง 1.8 เมตร และมีการนำมาประกอบเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง งบการลงทุนก็น้อยกว่าระบบอื่น

ที่สำคัญเหมาะกับพื้นผิวถนนเดิมของเมืองพัทยาที่มีความกว้างของเขตทางไม่มากนัก ส่วนการเลือกระบบโมโนเรลนั้นมองว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดเพราะเกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด การยกระดับไม่จำเป็นต้องใช้ระดับความสูงมาก เพราะอาจส่งผลต่องบประมาณในการลงทุน รวมทั้งเรื่องสถานีจอดและทัศนียภาพ แต่อาจมีการเวนคืนที่ดินบ้าง เช่น บริเวณริมถนนมอเตอร์เวย์ด้านทิศใต้ตลอดแนวเพื่อไม่ให้ไปรบกวนเส้นทางหลัก,

บริเวณหน้าห้าง Terminal 21 และบริเวณแยกทัพพระยา โดยตลอดเส้นทางจะมีจุดจอดรวม 13 จุด ส่วนแผนการดำเนินการหลังจากผ่านการรับฟังความคิดเห็นและผ่านกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว หลังจากนี้เมืองพัทยาจะได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการตามลำดับต่อไป หากผ่าน ครม.แล้วคาดว่าจะเริ่มลงมือการก่อสร้างได้ในช่วงประมาณปี 2566-67 และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในช่วงปี 2570

บรรยค์ จันทร์รอด รายงาน

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม